ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ผู้พิการ" อยากให้สื่อสาธารณะส่งเสริมล่ามภาษามือมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ "เออีซี"

สังคม
24 ธ.ค. 55
11:00
211
Logo Thai PBS
"ผู้พิการ" อยากให้สื่อสาธารณะส่งเสริมล่ามภาษามือมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ "เออีซี"

วันที่ 24 ธ.ค. 55 ได้มีการจัดเสวนาในเรื่อง "สิทธิการสื่อสารของผู้พิการกับสื่อสาธารณะในระดับอาเซียน" โดยสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างตัวแทนผู้พิการและนักวิชาการ ในประเด็นสิทธิของคนพิการในเรื่องของสื่อในประชาคมอาเซียน

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะตัวแทนผู้พิการ กล่าวว่า สื่อของผู้พิการในประเทศไทยปัจจุบันยังมีน้อย และไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร เช่น สื่้อโทรทัศน์ จึงอยากให้มีการนำล่ามภาษามือสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะรายการข่าว

สำหรับการมีส่วนร่วมและเข้าถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของผู้พิการ นายวิริยะยังกล่าวอีกว่า ผู้พิการทางสายตาหรือผู้พิการทางการได้ยิน จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลาง  เนื่องจากในอนาคตจะมีการขอคลื่นความถี่ทั้งในวิทยุและโทรทัศน์สำหรับผู้พิการในระดับอาเซียน

ด้านนายโสภณ ฉิมจินดา ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของ ส.ส.ท. เป็นตัวแทนของผู้พิการที่ผลิตสื่อ กล่าวว่า ภาพที่เคยชินสำหรับสื่อสำหรับผู้พิการไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ หรือ โทรทัศน์ ล้วนแล้วแต่เสนอในมุมมองที่ผู้พิการต้องได้รับอนุเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ แต่แท้จริงยังมีผู้พิการหลายคนที่มีศักยภาพในการผลิตสื่อได้เช่นกัน ทั้งนี้ในการสู่ประชาคมอาเซียน นายโสภณเห็นว่า น่าจะมีการศึกษาความเป็นอยู่ของผู้พิการในประชาคมอาเซียน และการดูแลผู้พิการของประเทศต่าง ๆ เช่น การเดินทาง การสื่อสาร การรักษาพยาบาล ให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น

นายสมชัย สุววรณบรรณ ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า กรณีการสื่อสารผ่านสื่อของผู้พิการทางการได้ยิน เพราะปัจจุบันภาษามือมีหลากหลายภาษา เช่นเดียวกับภาษาพูด จึงอยากให้มีการรวมภาษามือทั้งหมดให้เป็นภาษาสากล เพราะจะเป็นประโยชน์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และใน 1-2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิทัลซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน และไทยพีบีเอสจะพยายามผลิตสื่อสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ให้มีความหลากหลาย เท่าเทียม และทั่วถึงอย่างแน่นอน

ทางด้านนางชนิดาภา เพ็ชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด กล่าวถึง เรื่องของการผลิตสื่อสำหรับผู้พิการ ว่าในตอนนี้การผลิตสื่อยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคคลากรไม่เพียงพอ และไม่มีต้นฉบับในการนำผลิต

ส่วนนางสาว วิจิตรา รชตะนันทิกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและวิชาการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนได้มีการตื่นตัวและรองรับทศวัตรคนพิการของอาเซียนแล้ว โดยมีประเด็นหลักๆ เช่น กระตระหนักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้พิการ การพัฒนากฎหมายในการเลือกปฏิบัติ และการจ้างงานคนพิการ เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง