ผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาท
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปีที่ผ่านประชากรภาคเกษตรในกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ขณะที่วัยหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 15-39 ปี มีแนวโน้มการทำงานภาคเกษตรลดลง โดยหันไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม และการบริการมากขึ้น
และในปีหน้า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ300บาท ทั่วประเทศ ยิ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานในภาคเกษตรขาดแคลนและมีอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น
นายบุญส่ง พี่พาณิช ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนมะนาว ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มากว่า 40 ปี ใน กล่าวว่า ทุกวันนี้ หนุ่มสาวมักนิยมทำงานโรงงาน เพราะเหนื่อยน้อยกว่าการทำสวน ผู้ประกอบการจึงต้องจ้างแรงงานต้างด้าวเกือบทั้งหมด แต่แรงงานก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มค่าจ้าง ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานต่างด้าวสูงเทียบเท่ากับแรงงานไทย
ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังเก็บเกี่ยวมะนาวรุ่นสุดท้าย จะเปลี่ยนไปปลูกมะพร้าว แทนการทำสวนมะนาวในพื้นที่ 14 ไร่ เพราะใช้แรงงานน้อยกว่า และทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่าหากผัก และผลไม้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรเข้าไปทดแทนแรงงานได้ ราคาตกต่ำไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ในที่สุดเกษตรกรอาจขายที่ดิน สวนผักผลไม้ เพื่อนำเงินไปประกอบธุรกิจอย่างอื่นแทน หรืออาจต้องปล่อยร้าง
นายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทในภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมรับมือด้วยการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มากขึ้น
รศ.สมพรยังเสนอว่าทางออกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรได้ คือการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องส่งเสริมการวิจัยในไร่นาให้มากขึ้นกว่าเดิม สนับสนุนให้เกิดการร่วมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนเครื่องจักรกลเพื่อให้เกษตรกรปรับตัว มากกว่าการเน้นอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ก่อประโยชน์ในระยะยาว