ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศต้นปี 2556...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 70 จังหวัดเป็น 300 บาท/วัน ภายหลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา
โดยหลังจากที่ค่าจ้างปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศแล้ว ก็จะคงไว้ที่ระดับนี้ไปอีก 2 ปี ยกเว้นกรณีที่เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม
แน่นอนว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวย่อมมีผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลายด้านซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองดังนี้
แม้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มรายได้แรงงาน...แต่ยังต้องติดตามผลต่อจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ จะช่วยให้แรงงานใน 70 จังหวัดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70.0 ของแรงงานฐานค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจีดีพีในปี 2556
แรงหนุนจากการขึ้นค่าแรงที่จะส่งผ่านการบริโภคภาคเอกชนมายังจีดีพีอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดังกล่าว เนื่องจากผลของรายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจถูกลดทอนลงโดยหลายปัจจัย อาทิ ระดับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการผลักภาระต้นทุนการผลิตมายังผู้บริโภค ขณะเดียวกัน หากแรงงานยังมีภาระหนี้สินในครัวเรือนที่ต้องผ่อนชำระ ก็อาจต้องนำรายได้ส่วนเพิ่มนี้ไปชำระหนี้ดังกล่าว ส่งผลให้กำลังซื้อของแรงงานและการบริโภคภาคเอกชนไม่เพิ่มระดับขึ้นจากเดิม
นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดที่มีกำหนดปรับเพิ่มขึ้นในปี 2556 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และอาจทำให้แรงงานบางส่วนต้องตกงานและประสบภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นในการหางานใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่อาจฉุดรั้งให้ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศที่มีต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและจีดีพีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้แรงงานเช่นกัน
สำหรับผลต่ออัตราเงินเฟ้อนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวและทิศทางการชะลอตัวของการบริโภคจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้บางส่วน และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2556 อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เงินเฟ้อก็ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลพวงของการปรับราคาปัจจัยการผลิต (Cost-push Inflation)
ทั้งการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล การปรับเพิ่มค่า Ft ไฟฟ้ารอบใหม่ และต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามอัตราค่าแรงใหม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2556 อาจเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยคาดว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าราวร้อยละ 0.4
ผลกระทบของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาคธุรกิจมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันตามที่ตั้ง ขนาดและประเภทกิจการ รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัว การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท/วันเท่ากันทั้งประเทศในช่วงต้นปี 2556 จะทำให้อัตราค่าจ้างมาตรฐานของไทยขยับขึ้นร้อยละ 31.7 จากค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 227.8 บาท/วัน โดยจังหวัดพะเยาซึ่งมีฐานค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยต่ำที่สุดของประเทศที่ 206.3 บาท/วัน จะมีการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.5 และลดหลั่นกันไปตามช่องว่างระหว่างอัตราค่าแรงฐานในปัจจุบันและค่าแรงใหม่ ขณะที่ 7 จังหวัดนำร่องที่มีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วในเดือนเมษายน 2555 จะคงอยู่ที่ 300 บาท/วัน
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่ทุกภาคส่วนธุรกิจก็คงไม่สามารถหลีกหนีจากผลกระทบที่เกิดจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปได้ โดยผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ พื้นที่ตั้งกิจการ ซึ่งหากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีฐานอัตราค่าจ้างแรงงานเดิมต่ำ ก็อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท/วัน ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขณะที่ ขนาดและประเภทธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างมากที่สุด ก็คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแรงงานที่รับค่าจ้างในอัตราขั้นต่ำเพื่อทำงานที่ไม่ต้องอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะกลุ่มอย่างยิ่ง SMEs ที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพาการใช้แรงงานไร้ทักษะอย่างเข้มข้น ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่เน้นตลาดส่งออกที่กำลังตกอยู่ในภาวะซบเซาเป็นหลักด้วยแล้ว ก็น่าจะทำให้ผลกระทบอยู่ในระดับที่รุนแรงเมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรในระดับต่ำ และธุรกิจที่กำลังเผชิญภาวะการแข่งขันสูงที่ทำให้การส่งผ่านภาระต้นทุนการผลิตไปยังผู้บริโภคเป็นไปได้ยาก ซึ่งก็คงจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลกระทบที่เกิดจากต้นทุนค่าแรงจะมากน้อยเพียงใด หากผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวที่ดี อาทิ ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการในตลาด มีความสามารถในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มอัตราการเติบโตของรายได้
ขณะเดียวกันก็สามารถปรับตัวโดยนำเอาเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาเสริมในการผลิตและการบริหารงานเพื่อลดต้นทุน ก็อาจช่วยบรรเทาผลกระทบของต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นและสามารถประคับประคองให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้
การว่างงานในระยะสั้นอาจเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรงนักเนื่องจากตลาดแรงงานยังตึงตัว คงต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องปรับตัว โดยอาจต้องปรับลดจำนวนแรงงาน ลดขนาดกิจการ หรืออาจต้องปิดการลงในท้ายที่สุด ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการจ้างงานของไทยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องจากการเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันเป็นมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศและวางแนวทางไว้ระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งน่าจะมีการเตรียมรับมือกับแนวโน้มต้นทุนค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเมื่อผนวกเข้ากับแนวโน้มของตลาดแรงงานไทยที่อยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัวซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะรักษาแรงงานที่มีทักษะไว้ รวมทั้งหลายธุรกิจยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยดูดซับแรงงานที่ต้องประสบภาวะว่างงานจากผลกระทบของภาวะแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่บีบคั้นได้ระดับหนึ่ง ก็น่าจะส่งผลเชื่อมโยงทำให้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในตลาดแรงงานไทยในระยะสั้นยังไม่เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตราย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานในปี 2556 จะอยู่ที่ 3.0 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ 2.6-3.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7-0.9) เพิ่มขึ้นจากจำนวน 2.65 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ในปี 2555
บทสรุปและแนวโน้ม..มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2556 นั้น ในด้านหนึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานจำนวนหลายล้านคน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คงต้องยอมรับว่า ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการ SMEs ที่ปัจจุบันมีจำนวนราว 2.3 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.2 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมากในกลุ่มนี้ยังคงพึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำในการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ต้องอาศัยทักษะฝีมือมากนัก
นอกจากนี้หากเป็น SMEs ที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่กำลังตกอยู่ในภาวะซบเซาเป็นหลักด้วยแล้ว ก็อาจทำให้ผลกระทบจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่าจ้างแรงงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่กำหนดความอยู่รอดของภาคธุรกิจ หากแต่ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรในการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนและผลกระกอบการที่งอกงามให้แก่ผู้ประกอบการในอนาคต ทั้งศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ความสามารถในการขยายส่วนแบ่งตลาดและสร้างฐานลูกค้าเพิ่มเติม รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านต้นทุนและคุณภาพ ซึ่งเมื่อประกอบกับสภาวการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังเอื้อต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ ก็น่าจะช่วยประคองให้ธุรกิจไทยในภาพรวมยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรมีการเตรียมพร้อมด้านมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อยและเข้าข่ายที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การเพิ่มศักยภาพการผลิตด้วยเครื่องมือเครื่องจักรและการยกระดับอัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานให้เท่าเทียมหรือสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงาน
รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่จะนำพาให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใดก็ตาม
ภายหลังจากที่โครงสร้างค่าจ้างมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงมีโจทย์ท้าทายอื่นๆ ที่ต้องเร่งหาหนทางแก้ไขและเตรียมพร้อมบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องตามมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยี การปรับปรุงขั้นตอนและมาตรฐานของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รวมถึงการเตรียมพร้อมเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่อาจไหลกลับประเทศภายหลังเปิดเสรี AEC ในปี 2558 ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ปัญหาดังกล่าวมีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะภาครัฐบาลที่ต้องดำเนินบทบาทสำคัญในการริเริ่มและอำนวยความสะดวกเพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นไปได้อย่างราบรื่นภายใต้แนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคแรงงานของไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่รูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศได้ในระยะต่อไป