วิบากกรรม กสทช.
งานใหญ่ของ กสทช. ที่แทบเรียกว่า "หืดขึ้นคอ" กับแผน "ภารกิจเพื่อชาติ" ประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ย่านความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ซ ท่ามกลางข้อครหาเอื้อประโยชน์เอกชน
การประมูล 3 จี นับเป็นก้าวแรกของในภารกิจที่เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน ไปสู่การให้ใบอนุญาตของ กสทช. ซึ่งเกิดอาการสะดุดตั้งแต่ต้นจนจบการประมูล จากปัญหาการออกแบบหลักเกณฑ์การประมูลที่แบ่งใบอนุญาติเป็น 9 ใบ เสมือนเอื้อบริษัททั้ง 3 ราย แบ่งคลื่นความถี่เท่าๆ กัน คนละ 3 ใบ ยิ่งกว่านั้น ราคาสุดท้ายของการประมูลไม่เกิดการเคาะราคาเพิ่ม เพื่อแข่งขันกันถึง 6 ใบ ซึ่งผิดหลักของคำว่า "ประมูล"
ในปีหน้า กสทช.จะต้องเดินหน้ากำกับโครงการ 3จี ควบคู่ไปกับการถูกตรวจสอบทั้งเรื่องการประมูล และการให้ใบอนุญาตเอกชน 3 ราย รวมถึงการกำกับราคาค่าบริการ 3จี ที่ต้องลดลงจากอัตราปัจจุบันอีกร้อยละ 15 หรือ 20
ตลอดทั้ง 1 ปี การทำงาน กสทช.เครือข่ายผู้บริโภค และนักวิชาการต่างสะท้อนว่าองค์กรอิสระแห่งนี้ล้มเหลว โดย กสทช.ยังวนเวียนแก้ปัญหาเดิมๆ โดยตลอดทั้งปีมีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เรื่อง หรือแม้แต่เรื่องที่ กสทช.ออกประกาศมาบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ตาม
อีกภารกิจใหญ่ที่รอ กสทช.เข้ามาสะสาง คือการปฏิรูปอุตสาหกรรมสื่อด้านวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีเจ้าภาพรับผิดชอบ
การเติบโตของธุรกิจสื่อในยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมผ่านหลายช่องทาง ประกอบกับสิทธีเสรีภาพของสื่อที่มีมาก ส่งผลทำเกิดสถานีวิทยุเกิดขึ้นนับหมื่นสถานี สถานีโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และช่องเคเบิ้ลทีวีนับพันช่อง จึงนับเป็นงานหินที่จะจัดระเบียบกิจการเหล่านี้ให้เป็นระบบ และเกิดการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ซึ่งออกหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ก็จะมีเสียงคัดค้านตามมา
ปรากฏการณ์ "จอดำ"ฟุตบอลยูโร 2012 เมื่อกลางปี นับเป็นอีกปัญหาใหญ่ของงานด้านกระจายเสียงฯ เมื่อประชาชนไม่สามารถรับชมทางฟรีทีวีผ่านจานดาวเทียมของทรูวิชั่น เพราะปัญหาลิขสิทธิ์ กสทช.ต้องเปิดเวทีหาทางออก จนที่สุดก็ออกประกาศ ห้ามเกิด "จอดำ" ในการถ่ายทอดสดกีฬา 7 ประเภท
ปีหน้า กสทช.ยังต้องเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่ในอุตสาหกรรมทีวี คือการแพร่ภาพสัญญาณภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในช่องฟรีทีวี เพื่อจะค่อยๆ ยุติระบบอนาล็อกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศว่าในปี 2558 10 ประเทศอาเซียน ต้องเปลี่ยนเป็นระบบทีวีดิจิตอล
ทีวีดิจิตอลจะมีความคมชัดสูง และมีช่องฟรีทีวีมากถึง 48 ช่อง แต่ในจำนวนนี้ กสทช.กำหนดให้ประมูลแข่งขัน 24 ช่อง เพื่อได้สิทธิ์ประกอบกิจการ 10 ปี ส่วนอีก 24 ช่อง สามารถขอใบอนุญาตได้ตามประเภทที่กำหนด แตกต่างกันไปทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับชาติ ทั้งหมดจะเห็นความชัดเจนในรายละเอียดของราคาตั้งต้นการประมูล และเงื่อนไขการขอใบอนุญาตในต้นปีหน้า
การจัดระเบียบสถานีวิทยุเป็นภารกิจ กสทช.ที่ระหว่างดำเนินการ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือวิทยุชุมชน วิทยุสาธารณะ และวิทยุธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวล คือความจริงจังของ กสทช.ต่อการเรียกคืนคลื่นความถี่หมด เพื่อนำไปสู่การจัดสรร
การกำหนดเงื่อนไขด้านเทคนิค อุปกรณ์ และกำลังส่ง สำหรับสถานีวิทยุก็เป็นอีกเรื่องถูกคัดค้าน และทำให้กรรมการ กสทช.ถูกล่ารายชื่อยื่นถอดต่อรัฐสภา และยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แม้กสทช.จะอ้างว่ากระบวนการต่างๆ ผ่านการทำประชาพิจารณ์หลายรอบแล้วก็ตาม
ยังมีประเด็นการจัดระเบียบ หรือควบคุมเนื้อหารายการ หรือโฆษณาต่างๆ ที่ส่อผิดกฎหมายในสื่อต่างๆ ที่ กสทช.มีแผนเร่งควบคุม และเอาผิด เพื่อให้การผลิตสื่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพ แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ หรือควบคุมอย่างทันท่วงที เพราะจำนวนช่องรายการที่มีนับพันช่อง
นอกจากนี้ งบประมาณการใช้จ่ายขององค์กรอิสระ แห่งนี้ ก็ยังถูกข้อสังเกตใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า และที่น่าจับตามากกว่านี้ คือคือเสถียรภาพ และเอกภาพของคณะกรรการ 14 คนว่าจะประคับประคองภารกิจต่างๆ ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา ว่ามีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ธรรมภิบาล และการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
อีก 5 ปี จากนี้ที่จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพองค์กรอิสระน้องใหม่แห่งนี้ต่อการนำพาประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมสื่อตามเป้าหมายที่กำหนด หากไม่ถูกถอดถอนเสียก่อน