วิถีพังค์เพื่อสังคมของ Pussy Riot ผู้กลายเป็นนักโทษทางความคิดหลังลุกขึ้นต่อกรอำนาจรัฐ
แม้การแสดงในเพลง Mother of God, Drive Putin Away ในโบสถ์นิกายออร์โธดอกซ์ เพื่ออ้อนวอนให้พระแม่มารีย์ขับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ออกไปจากรัสเซีย จะทำให้สมาชิก 3 คนของวง Pussy Riot ต้องถูกคุมขังในเวลาต่อมา แต่ผลจากการแสดงครั้งนั้น ทำให้ชื่อของ Pussy Riot เป็นที่จดจำไปทั่วโลกในฐานะศิลปินที่ใช้ดนตรีต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมจากอำนาจรัฐ จนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบ 40 คนสุดท้ายในตำแหน่งบุคคลแห่งปี 2012 ของนิตยสารไทม์
แนวดนตรีพังก์ร็อกเคยใช้เป็นเครื่องมือของหนุ่มสาวชนชั้นกลางและกรรมาชีพ สะท้อนความไม่พอใจที่มีต่อระบอบทุนนิยมในสังคมยุค 70 จนเกิดวัฒนธรรมย่อยที่มีดนตรีพังค์เป็นต้นแบบมากมาย รวมถึงกระแส Riot grrrl ของกลุ่มนักดนตรีผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศผ่านบทเพลง และเป็นต้นแบบให้ Pussy Riot เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิสตรีและสิทธิของคนเพศที่ 3 ที่ถูกริดรอนอย่างมากในสมัยการปกครองของปูติน
Pussy Riot เป็นที่จดจำจากการแอบเปิดการแสดงประท้วงตามที่สาธารณะโดยไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ตัว โดยมีทีมงานอยู่ท่ามกลางฝูงชนคอยบันทึกภาพ แล้วนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ท โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นการเดินรอยตามความสำเร็จของการปฎิวัติในโลกอาหรับ แม้จะแตกต่างด้วยจำนวนผู้ร่วมประท้วงที่น้อยกว่า แต่ก็เต็มไปด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์
ปัจจุบันสมาชิก Pussy Riot 2 คนยังคงอยู่ในเรือนจำ ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากล เรียกพวกเธอว่าเป็น นักโทษทางความคิด ซึ่งถูกจองจำเพียงเพราะมีความเห็นแตกต่างจากผู้ครองอำนาจรัฐ มีกระแสเรียกร้องอิสรภาพให้กับพวกเธอทั้งในรัสเซียและจากทั่วโลก เช่นเดียวกับศิลปินชั้นนำของโลกที่ออกมาสนับสนุนมากมาย แต่ตัวแทนของ Pussy Riot ปฎิเสธที่จะร่วมแสดงกับศิลปินตะวันตก เนื่องจากพวกเธอต่อต้านวิธีการของนายทุนที่ลดคุณค่าของบทเพลงให้กลายเป็นสินค้าตามลัทธิบริโภคนิยม ขณะที่ศิลปินตะวันตกผลิตเพลงเพื่อหวังกำไร แต่การแสดงของพวกเธอคือการอุทิศตนเพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม