ผลกระทบต่อแรงงาน หลังขึ้นค่าจ้าง 300 บ.
พนักงาน กว่า 300 คนของโรงงานผลิตชุดชั้นใน วิณาการ์เม้นต์ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ชุมนุมประท้วงหน้าโรงงาน เพราะ นายจ้าง ติดป้ายยกเลิกกิจการกระทันหัน โดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า พนักงาน บอกว่า ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายจ้างเจรจาข้อตก การจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ที่จ.สระแก้ว โรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดย่อมบางแห่งปิดกิจการ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท เช่น บริษัท อีสต์บอร์ดดัสตรี้ จำกัด ต.สระแก้ว อ.เมือง ดำเนินกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศมากว่า 10 ปี มีพนักงานประมาณ 400 คน แต่ขณะนี้ได้ปิดกิจการแล้ว นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้เท่านั้น สอดคล้องกับผลของการประเมินผลกระทบของกระทรวงแรงงานว่า ผู้ประกอบการจะปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน งดรับลูกจ้างและหันไปพึ่งพาใช้เครื่องจักรแทนคนงาน นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน เช่น ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ลดสวัสดิการต่างๆ แรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาของตัวเอง เพราะค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ขาดแคลนแรงงานในบางสาขา เช่น ก่อสร้าง ขนส่ง คลังสินค้า ค้าปลีก โรงแรม และ ภัตตาคาร
แต่การประกาศปิดโรงงงาน หรือการปลดพนักงาน ย้ายฐานการผลิต ไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้ประกอบการสิ่งทอรายนี้นำมาแก้ไขปัญหา หรือรับมือกับนโยบายนี้ หากแต่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน ด้วยการเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงาน เพื่อให้ตอบโจทย์กับรายได้ที่พวกเขาจะได้รับน่าจะนำไปสู่การมีสินค้าที่มีคุณภาพ และนำไปขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นการรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง
การปรับตัวรับมือกับทุกสถานการณ์ให้ได้ในภาวะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้ยึดถือมาโดยตลอด เพราะถ้าหากรอแต่เพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ ยังไม่มีความชัดเจนก็อาจมีผลกระทบถึงขึ้นต้องปิดตัวลงได้ ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์ เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท พบว่า มีธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบ 1 ล้านราย และแรงงาน ตกงานกว่า 640,000 คน แต่จนถึงขณะนี้ ภาครัฐยังไม่ตกผลึกแนวทางมาตรการ การเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ เป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะพบกับจุดวิฤตจากนโยบายนี้ จนถึงขั้นปิดตัวลงอาจมีมากขึ้นกว่าเดิม