ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อำนาจของศิลปะ และมาตรฐานการตีความของสื่อบันเทิงที่แตกต่าง จนถูก "แบน"

Logo Thai PBS
อำนาจของศิลปะ และมาตรฐานการตีความของสื่อบันเทิงที่แตกต่าง จนถูก "แบน"

เรื่องราวความบันเทิงในสื่ออย่างภาพยนตร์และละคร คือศิลปะ หากบ่อยครั้งที่การตีความและมุมมองความคิดที่เกินไปกว่าความสนุกสนาน กลายเป็นชนวนที่ทำให้สื่อบันเทิงเหล่านี้ถูกแบน

<"">
<"">

 

การฆาตกรรมอันโด่งดังซึ่งกลายเป็นที่จดจำ จากภาพยนตร์ปี 1960 เรื่อง ไซโค(Psycho) ที่สร้างจินตนาการให้ผู้ชมเห็นภาพฆาตกรใช้มีดสังหารหญิงสาวในสภาพเปลือยเปล่าอย่างทารุณ และเคยถูกคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาไม่ให้ผ่าน แต่กลับคำตัดสินภายหลัง เพราะพบว่าไม่มีช็อตใด ที่เห็นภาพฆาตกรทำร้ายหญิงสาวอย่างชัดเจน หรือเปิดเผยสัดส่วนของเหยื่อ หากเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเทคนิคการตัดต่อภาพ ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ผู้กำกับหนังชั้นครู ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของศิลปะที่ถูกใช้เล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว และอาจถูกตีความไปได้ตามประสบการณ์ของผู้ชม

<"">
<"">

 

ผลจากศิลปะในภาพยนตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต่างจากภาพรวมของละครไทยอย่าง เหนือเมฆ 2 ที่บางฉากบางตอนอาจทำให้เกิดการตีความ แตกต่างไปได้ซึ่งก็เป็นจินตนการที่เกิดขึ้นจากงานศิลปะ

"อำนาจของศิลปะมีผลแน่นอน เพียงแต่ว่ามันมีกี่ระดับเท่านั้นเอง คุณอาจจะบอกว่าดูแล้วเพลิน แต่ชาวบ้านดูแล้วเขาก็บอกว่า มันไปส่งผลกับความคิดเขาว่าธรรมะชนะอธรรม ไปตอกย้ำชุดความคิดอันนี้ให้แน่นหนาในสังคมไทย ในเมื่อเขาแบน คนที่แบนคงเห็นอิทธิพลของละคร" ผศ.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ม.หอการค้าฯ

แม้เรื่องราวจะถูกเล่าตามต้นฉบับบทประพันธ์ของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ แต่การใช้สีดำ และ สีแดง ในเครื่องแต่งกายของตัวละครตามที่ถูกระบุไว้บทประพันธ์เรื่อง แมคเบธ และเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับเกมการยึดอำนาจทางการเมือง กลับทำให้หลายคนตีความว่าภาพยนตร์ เรื่อง เช็คสเปียร์ต้องตาย ตั้งใจกระทบกระเทียบการเมืองแบ่งฝักฝ่ายของไทยในปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามฉายด้วยข้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคี ทั้งที่ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้าง

<"">
<"">

 

หลายครั้งที่การตีความ เกินไปกว่าความเป็นสื่อบันเทิง รวมถึงมาตรฐานการตรวจพิจารณาสื่อของไทยในปัจจุบันที่เน้นการใช้ดุลยพินิจ โดยขาดการฟังความเห็นที่รอบด้านและเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การถูกแบนในหลายสื่อ

"การแบนสะท้อนให้เห็นความกลัวของผู้มีอำนาจ กลัวแสดงความไม่รู้ของตัวเอง ยิ่งเขาแบนเรายิ่งรู้สึกว่า เขาไม่รู้ เขาไม่ฉลาด เขาคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ฉลาดเหมือนกับเขา ซึ่งเขาคิดผิด ยิ่งทำแบบนี้ยิ่งเห็นชัดว่าเขาไม่ฉลาดกว่าคนหมู่มาก" ธัญญ์วาริน ศุขะพิสิทธิ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์

จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำอธิบายถึงการยุติการออกอากาศของ เหนือเมฆ2 แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาสื่อซึ่งเป็นปัญหามาอย่างช้านาน ให้หลุดจากวังวนของการใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ และสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีภาพยนตร์ หรือ ละครเรื่องใด ที่ถูกแบนโดยประชาชนไม่มีสิทธิ์รับรู้และเข้าใจถึงเหตุผลอันแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง