นายเซปป์ แบล็ตเตอร์ กล่าวหลังจากได้รับความไว้วางใจเป็นมติเอกฉันท์ถึงร้อยละ 91 จากที่ประชุมใหญ่ของฟีฟ่า หรือ ฟีฟ่า ครองเกรส ให้ดำรงตำแหน่งประธานของสหพันธ์ฟุตบอล นานาชาติต่อไปอีก 4 ปี ซึ่งจะทำให้นายแบล็ตเตอร์ครองตำแหน่งเป็นวาระที่ 4
หลายฝ่ายคาดหวังว่าจากนี้ไปฟีฟ่าจะต้องรีบสร้างภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นมาโดยเร็วหลังจากถูกเปิดโปร่งเรื่องความไม่โปร่งใสมาตลอดในช่วงหลัง โดยคำแรกที่นายแบล็ตเตอร์พูดคือฟีฟ่าต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนโยบายแรกที่นายแบล็ตเตอร์จะทำคือการเปลี่ยนกฎการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก จากการที่ใช้ความคิดของบอร์ดบริหาร 24 คน มาเป็นการลงมติจากชาติสมาชิกทั้ง 208 ชาติ ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากที่ประชุม ซึ่งถือว่านายแบล็ตเตอร์ใช้ไม้เด็ดในการกู้ศรัทธาคืนมาได้บ้าง หลังจากที่การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018 และ 2022 ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าแลกมาด้วยเงินซื้อเสียง
ขณะที่บรรดาผู้บริหารของสหพันธ์ฟุตบอลจากทวีปต่างๆ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์รับลูกกับนายแบล็ตเตอร์ โดยหลายคนเชื่อว่าจากนี้ไปฟีฟ่าจะเป็นองค์กรที่ขาวสะอาดมากยิ่งขึ้น
นายชัค บลาเซอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอล คอนคาเคฟ กล่าวว่า เขาไม่เห็นว่าฟีฟ่าจะอยู่ในช่วงที่ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่ถ้าจะมองกลับกันลองย้อนไปดู 10-20 ปีที่ผ่านมา ฟีฟ่าทำให้ฟุตบอลกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งเขา และสมาชิกของฟีฟ่าทุกคนต่างภูมิใจในผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก
ส่วนนายแดนนี่ จอร์แดน สมาชิกฟีฟ่า จากแอฟริกา ที่ทำงานร่วมกับนายแบล็ตเตอร์เป็นอย่างดีในช่วงฟุตบอลโลก 2010 กล่าวว่า จากนี้ไปประวัติศาสตร์ของฟีฟ่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และจากการประชุมครั้งนี้จะได้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังสนับสนุนนายแบล็ตเตอร์เป็นอย่างดีเช่นเคย
อย่างไรก็ตาม หลังจากการลงคะแนนจบลง นายเลนาร์ด โยฮันสัน อดีตประธานยูฟ่า ออกมาชี้โพรงว่า ครั้งที่เขาลงชิงชัยตำแหน่งประธานฟีฟ่าเมื่อปี 1998 เคยเห็นทีมงานของนายแบล็ตเตอร์วิ่งแจกซองเพื่อขอคะแนนเสียง แต่ยังดีที่นายโยฮันสันไม่มีหลักฐาน มิเช่นนั้น เสียงสนับสนุนของแบล็ตเตอร์อาจจะน้อยกว่าที่ได้รับในครั้งนี้
จากนี้ไป นายแบล็ตเตอร์คงจะต้องหามาตรการมาจัดการกับการคอร์รัปชั่นในองค์กรภายในเวลา 4 ปี ส่วนการบริหารวงการฟุตบอลในภาพใหญ่คงไม่ต้องวิตกอะไรมาก เนื่องจากเจ้าภาพฟุตบอลในอีก 3 ครั้งต่อจากนี้ไปเป็นสิทธิ์ที่นายแบล็ตเตอร์ได้ชี้ขาดไปแล้ว