ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟผ.รุกคืบ 4 ธุรกิจไฟฟ้า-โทรคมนาคม ใน สปป.ลาว

เศรษฐกิจ
11 ม.ค. 56
11:19
212
Logo Thai PBS
กฟผ.รุกคืบ 4 ธุรกิจไฟฟ้า-โทรคมนาคม ใน สปป.ลาว

จับมือเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

 ท่านสมบูน ราชาสมบัติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วย นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการลงทุนด้านพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ที่สำนักงานใหญ่ EDL กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

            
สำหรับบันทึกความเข้าใจที่ EGATi และ EDL ได้ลงนามร่วมกันนี้ เกิดขึ้นภายใต้พื้นฐานที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพภายในประเทศลาวใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง (สฟ.) ที่เชื่อมโยงระหว่างไทยและ สปป.ลาว เช่น สฟ.นาบง และ สฟ. อื่นๆ ที่มีโอกาส 2. ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการดำเนินการและบำรุงรักษา สฟ. ของ EDL และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 3. การพัฒนาโครงข่ายสื่อสารเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Communication) สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม และ 4. การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใน สปป.ลาว
           
ท่านสีสะหวาด ทิระวง ผู้อำนวยการใหญ่ EDL กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา EDL มีความสัมพันธ์อันดีกับ EGATi และ กฟผ. ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิควิชาการและการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ซึ่ง EDL มีความยินดีที่ EGATi จะเข้ามาพัฒนาโรงไฟฟ้าและจุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าใน สปป.ลาว รวมถึงยกระดับการดำเนินการและการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำธุรกิจสื่อสารร่วมกันผ่านโครงข่ายสื่อสารเคเบิลใยแก้วนำแสง
           
นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ EGATi กล่าวว่า EDL เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบโรงไฟฟ้าและระบบส่ง รวมถึงการนำเข้าและส่งออกกระแสไฟฟ้าของ สปป.ลาว  ด้าน EGATi เป็นบริษัทที่มี กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 100 ลงทุนในธุรกิจพลังงานนอกประเทศไทย เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังความร้อน และพลังงานหมุนเวียน ส่วนการพัฒนาระบบส่งร่วมกันนั้น มุ่งเน้นการปูพื้นฐานสู่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาล เพราะสามารถขยายโครงข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่อไปในอนาคต สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง