นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18ธันวาคม 2555 สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบ Commission Implementing Regulation (EU) No 1213/2012 เรื่องการระงับสิทธิ GSP เป็นรายหมวดสินค้าจากประเทศไทย 3 หมวดสินค้า ได้แก่ (1) หมวด 4a ได้แก่ Chapter 16: ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา กุ้ง และสัตว์น้ำ
(2) หมวด 4b ได้แก่ Chapter 17:น้ำตาล/ขนมที่ทำจากน้ำตาล Chapter 18: โกโก้ ช็อคโกแลต Chapter 19: ผลิตภัณฑ์ธัญพืช มอลต์ พาสต้า ขนมปัง Chapter 20: ผัก ผลไม้ Chapter 21: อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอสครีม Chapter 22: เครื่องดื่ม Chapter 23: อาหารสัตว์
และ (3) หมวด 14 ได้แก่ Chapter 71: อัญมณีและเครื่องประดับ โดยการระงับสิทธิฯ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559
นางปราณี กล่าวว่า การตัดสิทธิจีเอสพี (GSP) ดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยเนื่องจากมั่นใจว่าผู้บริโภคยังคงต้องการสินค้าคุณภาพสูงจากไทยและจะสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในสหภาพยุโรปได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ส่งออก/ผู้ผลิตไทยเพื่อเตรียมการรองรับการตัดสิทธิ GSP มาโดยตลอด โดยได้ชี้แนะให้ผู้ส่งออกปรับสายการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สูงเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง พร้อมทั้งเร่งนำผู้ส่งออกสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะถูกตัดสิทธิฯ ไปเปิดตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป เช่น จีน เกาหลี กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และภายในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อลดต้นทุนการผลิตและใช้สิทธิ GSP ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างแต้มต่อในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญของไทยในหมวดอื่น ๆ ยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่ เช่น พลาสติก ยาง เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และยานยนต์ ซึ่งจะทำให้สินค้าของไทยเหล่านี้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญที่ถูกตัดสิทธิฯ ในครั้งนี้ เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น