สุนทรพจน์ของ
เปิดใจถึงความรู้สึกที่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวเพราะเข้าวงการตั้งแต่เด็ก เป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำสุนทรพจน์ของ โจดี้ ฟอสเตอร์ นักแสดงวัย 50 ปี ขณะขึ้นรับ Cecil B. DeMille Award รางวัลเกียรติยศของเวทีลูกโลกทองคำ สร้างความประทับใจจากแขกในงาน ซึ่งล้วนเป็นคนดังที่สูญเสียความเป็นส่วนตัวเพราะอาชีพการงานเช่นกัน
แต่ขณะที่สำนวนโวหารของดาราเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์เป็นที่ชื่นชมว่าเร้าอารมณ์ แต่การเลือกงานที่มีผู้ชมนับล้านเป็นสถานที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งปกปิดมานาน จึงมีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อใช้โอกาสนี้เปิดเผยเรื่องส่วนตัว
ในอดีตค่ายหนังต้องประสานกับเจ้าของสำนักพิมพ์เพื่อกลั่นกรองข่าวส่วนตัวของคนดัง แต่ปัจจุบันการควบคุมภาพลบของคนดังที่ปรากฏในที่สาธารณะแทบเป็นไปไม่ได้ เมื่อการถ่ายภาพทำได้ง่ายด้วยกล้องบนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่การสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ทั้ง Twitter Facebook หรือ Instagram ก็ทำให้ประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคนดังได้แทบทุกฝีก้าว
บ่อยครั้งที่เหล่าคนดังเหล่านี้นิยมใช้ช่องทางสื่อออนไลน์สื่อสารข้อมูลส่วนตัว โดยตรงไม่ต้องผ่านการแถลงข่าว ซึ่งในบางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือทำลายความเป็นส่วนตัวของคนดังเสียเอง เช่นในกรณีของอดีตคู่รักฉาว รีฮานน่า และ คริส บราวน์ ที่โพสต์ภาพต้อนรับปี 2013 บน Instagram ของทั้งคู่ แต่ภาพผ้าห่มลายจุดที่เหมือนกันใน 2 ภาพ เป็นการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่านักร้องสาวกลับไปคบหากับนักร้องหนุ่มที่เคยทำร้ายเธออีกครั้ง
ซึ่งในบทความ Pay Attention and Leave Me Alone ของ Newsweek ได้วิจารณ์คนดังที่อาศัยสื่อสร้างโอกาสทางรายได้ ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธสื่อด้วยการอ้างความเป็นส่วนตัว โดยวิจารณ์กรณีของนักแสดง นีล แพทริก แฮร์ริส ว่าไม่ควรประกาศข่าวการมีลูกแฝดกับคนรักหนุ่มทางทวิตเตอร์ ถ้ายังเลือกจบข้อความบนทวิตเตอร์ด้วยการเรียกร้องความเป็นส่วนตัวอยู่
โรเบิร์ต เจ. ธอมป์สัน ศาสตราจารย์วัฒนธรรมสมัยนิยมของ Syracuse University กล่าวว่าความสนใจในเรื่องส่วนตัวของคนดังเกิดมาพร้อมกับคนดัง ขณะที่ทุกวันนี้สื่อต่างแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลับเฉพาะของคนดังตลอด 24 ชั่วโมง ความเป็นส่วนตัวที่เหล่าคนดังร้องขอ อาจเป็นสิทธิที่พวกเขาเรียกหาได้ แต่ไม่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริง