ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ
บีโอไอเตรียมประกาศใช้ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปี (2013-2017)
ศูนย์วิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศในไทยรวม 5 ครั้งโดยคาดว่าจะรวบรวมความเห็นภาคเอกชนทั่วประเทศเสร็จก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาประกาศใช้ในเดือนมีนาคม และมีผลบังคับใช้เดือนมิถุนายน 2013
ยุทธศาสตร์จะเน้นการส่งเสริมแบบมีเป้าหมายมากขึ้นจากเดิมที่ส่งเสริมครอบคลุมทุกกิจการ โดยภาพรวมแล้วจะให้ความสำคัญกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีน้อยลง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญสูงสำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน คือกิจการที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การก่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาคและมีการรวมตัวใหม่ของการลงทุน
รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ส่งผลให้กิจการที่มีความซับซ้อนมากและใช้เทคโนโลยีสูง จะมีแนวโน้มได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า โดยตามยุทธศาสตร์ใหม่จะมี 100 บัญชีกิจการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และประมาณ 30 กิจการที่ได้รับการส่งเสริมในรูปแบบของการอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบและอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี ในขณะที่จะมีประมาณ 80 บัญชีกิจการที่จะยกเลิกให้การส่งเสริม
มีเพียง 2 หมวดบัญชีประเภทกิจการที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปีโดยไม่จำกัดวงเงิน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญคือมีลักษณะเป็นกิจการที่เน้นการออกแบบ วิจัยและพัฒนาซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมในอนาคต ได้แก่ หมวด 5 : อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวม 2 กิจการ คือ
(1) ออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ micro electronic design และ embedded system design
(2) ผลิต embedded software หมวด 7: กิจการบริการและสาธารณูปโภค รวม 8 กิจการ คือ 2.1 เทคโนโลยีชีวภาพ
2.2 บริการด้านจัดการพลังงาน
2.3 วิจัยและพัฒนา
2.4 บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์
2.5 บริการสอบเทียบมาตรฐาน (calibration)
2.6 ออกแบบทางวิศวกรรม
2.7 นิคม/เขตอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี และ
2.8 สถานฝึกฝนวิชาชีพ นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์มีการมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D)
ที่ชัดเจน คือ สำหรับกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นั้น หากสัดส่วน R&D ต่อยอดขายเกิน 3% จะสามารถปลดล๊อคจำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย
กิจการที่อยู่ในหมวด 3 : อุตสาหกรรมเบา ถูกยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดรวม ประมาณ 20 ประเภทกิจการจากทั้งหมดราว 80 กิจการที่ถูกยกเลิก โดยส่วนมากพบว่าเป็นกิจการที่ใช้แรงงานค่อนข้างมากและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น กิจการผลิตผ้า ผลิตเครื่องนุ่งห่ม พรม รองเท้า กระเป๋า เครื่องกีฬา เป็นต้น
ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ใหม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการดำเนินการด้านต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุน ที่จะมาชดเชยสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ที่ลดลงไป โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบและลดอุปสรรคในการลงทุน และการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ
คาดว่าผลกระทบต่อการขอเข้ารับส่งเสริมการลงทุนจะไม่มากนัก เพราะกิจการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่คือราว 60% ของเงินลงทุน1 อยู่ในหมวด 4: ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง และ หมวด 5: อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งกิจการส่วนใหญ่ในสองหมวดนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเงินได้ 5 ปีขึ้นไป
เป็นกลไกผลักดันให้กิจการยกระดับไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยยุทธศาสตร์ใหม่จะเสมือนการสร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจที่เน้นการวิจัยและพัฒนาที่จะกลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเป็นหลัก ซึ่งจะกลายเป็นกลไกผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ พัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคตต่อไป