ประชานิยมกับการก่อหนี้ครัวเรือน
รายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัวจนกลายเป็นภาระหนี้สะสม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่มีมานาน แต่หลายเดือนที่ผ่านมา การก่อหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้คืนกลับลดลง ซึ่งสัดส่วนต้นทุนภาระหนี้ภาคครัวเรือนต่อรายได้ในปัจจุบันขยับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน จากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 52 ทั้งนี้ มาตรการรัฐนับเป็นแรงหนุนที่สำคัญ
สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยชี้ว่านโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรกของรัฐบาล ล้วนกระตุ้นให้หนี้ภาคครัวเรือนให้ขยายตัว และนโยบายรถคันแรกอาจสร้างปัญหาในอนาคตได้ โดยจะทำให้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 หรือ 2 เท่าของการเพิ่มหนี้ภาคครัวเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าวัยแรงงานออมเงินลดลง แต่มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสัดส่วนการออมของคนไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 7.8
แม้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนว่าภาคครัวเรือนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี แต่ผลจากมาตรการของรัฐที่กระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ 3 ไตรมาสแรกของปี 2555 มูลค่าหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นมาก
ทั้งนี้ สำหรับกรณีนโยบายรถยนต์คันแรก สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน อาจจะเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ หรือต้องลดรายจ่ายด้านอื่นมาผ่อนรถ