กทม.ตั้งเป้าเสริมการอ่านให้คนกรุง เน้นเยาวชน อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10-20 เล่มต่อปี ภายในปี 2556
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคเอกชน โดยบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จัดกิจกรรม จักรยานแรลลี่ "ปั่นให้ไกล เพื่อปัญญาไทย สู่เมืองหนังสือโลก 2013" ในเช้าวันที่ 20 มกราคมนี้ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมีองค์กร ยูเนสโก ร่วมกันประชาสัมพันธ์เมืองหนังสือโลก เพื่อพัฒนาความคิดของคนกรุงเทพ ซึ่งกิจกรรมปั่นจักรยาน ต้องการสร้างประโยชน์ให้คนกรุงเทพ ทั้งสนับสนุนให้ออกกำลังกาย, การท่องเที่ยวในเขตเมือง ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นสำคัญในการขับเคลื่อนความรู้เข้าสู่ชุมชน
นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก จะถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความคิดของคนไทย โดยใช้การอ่าน สร้างให้เกิดจินตนาการและความคิด จากปัญหาในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยแต่ละปี พบว่า ค่าการเรียนรู้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเยาวชนหันไปให้ความสนใจเรื่องเกม และสื่อเพื่อความบันเทิงมากขึ้น ส่วนความสนใจในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ลดน้อยลง ดังนั้น กทม.จะจัดกิจกรรมการอ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและช่วยส่งเสริมจินตนาการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย
ด้านนายศุภกรณ์ เวชชาชีวะ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การให้ความสำคัญการออกกำลังกาย ทำให้โพสต์ พับลิชชิ่ง เข้ามามีส่วนสนับสนุนให้คนกรุงขี่จักรยาน และเมื่อกรุงเทพฯได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก 2013 จึงร่วมผลักดันให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น ส่วนหนึ่งการอ่านและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ อันเป็นแหล่งท่้องเที่ยว 5 แห่ง ทั้งศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า ถนนราชดำเนิน ถนนพระอาทิตย์ สวนสัตว์ดุสิต(เขาดินวนา) รวมระยะทาง 20 กม. จะช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายร่วมกัน
สำหรับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับเลือกคัดเลือกจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน ในปี 2013 นี้ จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการอ่านและเรียนรู้จากหนังสือในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ ยูเนสโก เริ่มโครงการดังกล่าว ตัี้้งแต่ พ.ศ.2544 หวังให้เกิดการอ่าน การจัดพิมพ์หนังสือ นำไปสู่การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์
โดยกรุงเทพฯได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก เมื่อ 21 มิ.ย. 2555 เพราะมีความมุ่งมั่นให้ผู้มีส่วนได้เสียในวงการหนังสือทุกส่วน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาการอ่านโดยได้นำเสนอแผนโครงการที่มีความหลากหลายและแสดงออกถึงการมีพันธสัญญาในระดับสูงที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาการอ่านและหนังสืออย่างจริงจัง
สำหรับเป้าหมายของกรุงเทพฯ คือ ส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10 - 20 เล่มต่อปี ภายในปี 2556 จากปัจจุบันอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปี โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2553 ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก 2013 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ เด็กและเยาวชน ซึ่งกรุงเทพฯเป็นเมืองลำดับที่ 13 ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ต่อจาก เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา