แพทย์ผิวหนังเตือน “สิวจานด่วน” เหตุจากสารเคมีในเครื่องสำอางอุดตัน ถ้าไม่รักษาอักเสบ ติดเชื้อรุนแรงได้
ช่วงปิดภาคฤดูร้อนนี้ มีนิสิตนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาตามโครงการ Work & Travel มีนิสิตรายหนึ่งตั้งคำถามมาทาง facebook ว่า ทำไมรักษาสิวโดยการรับประทานยากลุ่มกรดวิตามินเอ (isotretinoin) จนสิวหายเรียบแล้ว แต่เมื่อไปทำงานพิเศษภาคฤดูร้อนครั้งนี้ โดยรับหน้าที่กริลล์เนื้อในร้านอาหารจานด่วนยี่ห้อดัง จึงมีสิวกำเริบขึ้นมาใหม่
เรื่องนี้ นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์อเมริกันบอร์ดสาขาผิวหนัง อธิบายว่า ลักษณะของสิวที่เล่ามานั้นน่าจะเข้าข่ายโรค “สิวจานด่วน” หรือ “Mc Donald’s acne” ที่มีรายงานครั้งแรกตั้งแต่พ.ศ. 2517 โดยนพ. Z. Litt แห่งสหรัฐอเมริกา ที่พบกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากมีสิวเห่อที่ใบหน้า และในบางรายที่หน้าอกด้านบน ส่วนใหญ่พบสิวนี้เห่อมากในช่วงฤดูร้อน และมีประวัติว่ากำลังทำงานตามร้านอาหารจานด่วน (fast food) เชื่อว่าสิวพวกนี้น่าจะเกิดจากการสัมผัสไอน้ำมันหรือไขมันจากการปิ้งย่างอาหาร จึงตั้งชื่อว่า “สิวแม็คโดนัลด์” หรือ “สิวจานด่วน”
นพ.ประวิตรกล่าวว่า ลักษณะของสิวจานด่วนนั้นอาจเทียบเคียงได้กับสิวจากเครื่องสำอาง หรือสิวจากงานอาชีพ สิวจากเครื่องสำอางเกิดจากสารเคมีในเครื่องสำอางอุดตันรูขุมขนทำให้เกิดสิวอุดตัน เพื่อลดสิวจำพวกนี้ควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่ระบุว่าไม่ก่อสิวอุดตัน (non-comedogenic) และไม่ก่อสิวอักเสบ (non-acnegenic) สำหรับสิวจากน้ำมันใส่ผม (pomade acne) พบได้บ่อยในผู้ชายที่ใส่น้ำมันใส่ผมที่เหนียวเหนอะหนะซึ่งเรียกว่าปอมเหมด ทำให้เกิดรูขุมขนอุดตัน มักพบที่บริเวณหน้าผาก ขมับ และหนังศีรษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นผมที่ใส่น้ำมันสัมผัสถูกต้อง เพื่อป้องกันสิวแบบนี้หากทาเครื่องสำอางแต่งผมเพราะมีหนังศีรษะแห้ง ควรทาเครื่องสำอางห่างจากแนวไรผมเข้ามา 1 นิ้ว ถ้าใช้เพื่อแต่งหรือจัดทรงผมควรทาแค่ปลายเส้นผม ระวังไม่ให้โดนหนังศีรษะและแนวไรผม ส่วนสิวจากงานอาชีพ (occupational acne) เกิดจากผิวหนังสัมผัสสารเคมี พบในช่างฟิต ช่างซ่อมรถยนต์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้ “สิวจานด่วน” กำเริบนอกจากสัมผัสไอน้ำมัน ไอไขมันแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการทำงานในห้องครัวมักเป็นงานหนัก จึงก่อความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสิวได้เช่นกัน ปัจจุบันยังเชื่อกันว่า การทำงานในร้านอาหารจานด่วนทำให้ตัวเองมีโอกาสรับประทานอาหารจำพวกนี้มากขึ้นด้วย ซึ่งอาหารจำพวกนี้จะมีเกลือสูง ร่างกายจึงได้รับสารไอโอไดด์ (iodides) ที่เป็นตัวการทำให้สิวเห่อได้ และเมื่อ
เร็วๆ นี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตคือพวกแป้งและน้ำตาลสูงทำให้เป็นสิวได้ พบว่าคนบางกลุ่มเช่น ชนเผ่าบางเผ่าในปารากวัย ปาปัวนิวกินี ฯลฯ ที่รับประทานแป้งน้อย และผอม ไม่เป็นสิว จึงได้ตั้ง “ทฤษฎีการได้รับน้ำตาลน้อย” ว่า เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลและแป้งน้อยก็จะไม่นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและไม่เกิดภาวะอินซูลินในเลือดสูง ซึ่งภาวะอินซูลินสูงนำไปสู่การผลิตสาร IGF-1 (insulin-like growth factor-1) เพิ่มขึ้น สาร IGF-1 ทำให้ผิวหนังแบ่งตัว เร็วทำให้รูขุมขนแคบลง อุดตันได้ง่าย จึงเป็นสิวง่าย และภาวะน้ำตาลน้อยยังมีส่วนยับยั้งการผลิตแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) ให้พอดีไม่มากเกินไป ถ้าฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปจะมีการสร้างไขมันที่ผิวหนังมาก และเป็นสิวได้ง่าย ส่วนการดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมมากก็พบว่าอาจเพิ่มสิวได้เช่นกัน จากการได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้น และการดื่มนมยังเพิ่มสาร IGF-1 ทำให้เป็นสิวง่ายเช่นกัน
ดังนั้นการทำงานที่มีความเครียด ในที่ร้อนชื้น สัมผัสไอน้ำมัน ไขมัน และมีโอกาสได้รับประทานอาหารจานด่วนที่มักมีแป้ง ไขมัน เนย และเกลือไอโอไดด์สูง ตลอดจนภาวะความเป็นวัยรุ่นที่มักเป็นสิวง่ายอยู่แล้ว เหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุของ “สิวจานด่วน”
สำหรับแนวทางในการรักษาสิวนั้น ถึงแม้ว่าจะจัดว่าสิวเป็นโรคอย่างหนึ่งแต่ถ้าอาการไม่รุนแรงนักก็อาจรักษาตัวเองได้ เช่นหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นให้เกิดสิว, ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ การหายาทารักษาสิวมาใช้เองต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจโดยละเอียด, ไม่ควรบีบแกะสิว เพราะอาจเกิดแผลเป็น สิวอักเสบลุกลาม สิวที่ใบหน้าโดยเฉพาะหน้าผากหากบีบแกะถ้าโชคร้ายอาจเกิดการติดเชื้อลามตามหลอดเลือดดำไปสู่สมองได้ หากรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นสิวอักเสบมากหรือเป็นสิวหัวช้าง ที่สมควรต้องกินยา ห้ามซื้อยามากินเอง
หลักในการพิจารณาว่าเป็นสิวมากเพียงใดจึงควรไปพบแพทย์คือ ควรไปพบแพทย์เมื่อใช้ยาทาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น, เมื่อสิวอักเสบมาก ปวดบวมแดง หรือสิวหายแล้วมักเป็นแผลเป็น, ผู้หญิงที่เป็นสิวที่ขนขึ้นตามใบหน้า หรือประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์, ถ้าสิวเลวลงมาก สิวอักเสบบวมแดงมาก และมีไข้ ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจแสดงว่ามีการอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง, รู้สึกอายที่เป็นสิว หรือรู้สึกหดหู่ และในกรณีของผู้ที่มีผิวคล้ำเมื่อสิวหายแล้วทิ้งรอยดำไว้นานมาก เหล่านี้ควรพบแพทย์