ประมงระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเรือตรวจ ตะลุยสำรวจความเสียหายจากเหตุเรือน้ำตาลล่มเร่งช่วยเหลือด่วน
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนว่า จากเหตุการณ์ เรือบรรทุกน้ำตาลซัดตอหม้ออับปางกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ที่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 เวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา ขณะนี้ (วันที่ 3 มิ.ย.54) ความเสียหายจากมวลน้ำเสีย ได้ขยายมาถึงบริเวณสะพานนวลฉวี จังหวัดนนทบุรี เนื่องด้วยปัจจัยจากน้ำทะเลหนุน ทั้งนี้ จากการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปลา พบว่า ปลามีอาการลอยหัวขึ้นมาเพราะสภาพน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน (ออกซิเจนเหลือ 0 – 0.4 / ค่าปกติ 4-9 มิลลิกรัมต่อลิตร) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.อ่างทอง เมื่อปี 2550 นั้นในครั้งนี้ยังไม่รุนแรงเท่า
โดย กรมประมงได้ตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อลงไปตรวจสอบแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่เกิดเหตุ (อยุธยา) และในวันนี้ (3 มิ.ย.54) ได้กระจายกำลังเจ้าหน้าที่นำเรือตรวจออกสำรวจ – ประเมินความเสียหายทรัพยากรสัตว์น้ำ 4 จุด ได้แก่ (1) สะพานนวลฉวี – ปากเกร็ด จ.นนทบุรี (2) วัดหงส์ปทุมมาวาส จ.ปทุมธานี (3) อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และทีมสุดท้ายจะออกประเมินคุณภาพน้ำตลอดลำน้ำที่เกิดเหตุ
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น(3 มิ.ย.54 ) ตามรายงานเบื้องต้นที่เกิดขึ้น พบว่าจ.พระนครศรีอยุธยา – อ.บางปะอิน มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 15 ราย เสียหาย 19 กระชัง มูลค่าความเสียหายประมาณ 400,000 บาท อ.บางไทร มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 7 ราย เสียหาย 57 กระชัง มูลค่าความเสียหายประมาณ 4,000,000 บาท
จ.ปทุมธานี มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 2 ราย 6 กระชัง แต่เสียหายเพียง 50 % มูลค่าความเสียหายประมาณ 150,000 บาท
จ.นนทบุรี ไม่มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย เนื่องจากการเลี้ยงปลาในกระชังส่วนใหญ่อยู่ในลำคลองซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประสานกรมชลประทานให้ปิดประตูระบายน้ำที่ระบายลงสู่คลองแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ได้ประสานกรมชลประทานให้ดันน้ำเพื่อผลักดันมวลน้ำเสียและเพิ่มค่าออกซิเจนตามจุดต่างๆแล้วและได้ช่วยกันนำสัตว์น้ำที่ลอยหัวขึ้นมาอนุบาลไว้เพื่อฟื้นฟูสภาพให้แข็งแรงก่อนปล่อยกลับคืนลงสู่ธรรมชาติต่อไปส่วนการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ
ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 คือ กรณีสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ และอื่นๆ เช่น ปลาสวยงาม กบ ตะพาบน้ำ เป็นต้น อัตราการให้ความช่วยเหลือ ตารางเมตรละ 257 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ จังหวัดต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติและจะต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับกรมประมงแล้วเท่านั้น
ส่วนเกษตรกรที่ประสบปัญหาสามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากนักวิชาการประมงได้ที่ศูนย์/ สถานี/
และสำนักงานประมงจังหวัด ในกรณีที่ประชาชนจับสัตว์น้ำที่ลอยขึ้นมา เพื่อนำไปจำหน่าย หรือ บริโภคนั้น หากนำไปปรุงสุกก็สามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตราย เพราะปลาที่ตายไม่ได้เกิดจากสารพิษ แต่เป็นการตายที่เกิดจากค่าออกซิเจนต่ำ
ทั้งนี้ เตือนผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่ยังไม่เกิดความเสียหาย) ตั้งแต่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงปากแม่น้ำ ให้ระวังภัยจากมวลน้ำเสียที่เกิดขึ้น ขอให้ย้ายปลาที่เลี้ยงออกจากบริเวณที่มวลน้ำเสียไหลผ่าน หรือจับปลาที่พร้อมจำหน่ายออกโดยเร็ว