ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2556 คาดยังโต ได้แรงหนุนหลักจาก
การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2556 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดในประเทศคู่ค้าหลัก
•เครื่องใช้ไฟฟ้าหลักที่น่าจะเป็นตัวหนุนตลาดการส่งออกปี 2556 คือ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและส่วนประกอบ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2556 จะมีมูลค่า 24,050-24,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 5.5-9.0 (YoY)
•ตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตสูง สำหรับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยคือตลาดอาเซียน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 จะครองส่วนแบ่งการส่งออกสูงที่สุดถึงร้อยละ 18.7 และมีมูลค่าถึง 4,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 14.9 (YoY) โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาวและพม่า คาดว่าจะเติบโตสูงถึงร้อยละ 16.7 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
•สำหรับแนวโน้มในระยะปานกลาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยจะยังคงได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนของต่างชาติ แต่การดึงดูดการลงทุนน่าจะเริ่มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและปัจจัยที่เคยเอื้อการลงทุนมีแนวโน้มลดลง ซึ่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่จะปรับใหม่น่าจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย
สำหรับสถานการณ์ของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะยังคงขยายตัวได้ จากปัจจัยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤติน้ำท่วม นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 มาช่วยส่งเสริมตลาดการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในปี 2556 ยังมีประเด็นที่ท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ และปัจจัยภายในประเทศ เช่น การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท การแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาแรงงานตึงตัว เป็นต้น
ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยปี 2556...ตลาดอาเซียนน่าจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญ
เมื่อย้อนกลับไปปี 2555 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยมีการปรับตัวฟื้นขึ้นจากผลกระทบของวิกฤติน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยปี 2555 อยู่ที่ 22,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปี 2554
ภาพรวมส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดในประเทศคู่ค้าหลักและกลับมาผลิตได้เต็มศักยภาพ โดยปัจจัยหนุนการเติบโตของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยด้านมหภาค อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนที่คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงประเทศในกลุ่ม AEC จะทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ยังคงเข้ามาขยายฐานการผลิตสินค้าในไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจในยูโรโซนอาจอาจทำให้การส่งออกไปยังตลาดยุโรปยังไม่สดใสนัก โดยสหภาพยุโรปนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย
โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกหลักคือ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ที่น่าจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ อาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย ประกอบกับแรงผลักดันจากอุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมาเป็นตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สำหรับเครื่องซักผ้าจะกลับมาผลิตได้เต็มที่และยังมีศักยภาพในการขยายตัวโดยเฉพาะตลาดอาเซียน
สำหรับตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยที่คาดว่าจะศักยภาพการเติบโตสูง น่าจะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเปิด AEC ในปี 58 ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการขนส่งสินค้า ซึ่งเห็นได้จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2555 ไปยังตลาดอาเซียนมีสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง และขยายตัวถึงร้อยละ 7.0 โดยประเทศในกลุ่มตลาดอาเซียนที่น่าจับตามอง คือ กัมพูชา ลาวและพม่า (CLM) ที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย โดยไทยมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยัง CLM ขยายตัวถึงร้อยละ 37.9 หรือมีมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555
นอกจากนี้ไทยยังมีความพร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และแรงงานมีความสามารถ ทำให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เนื่องจากมีความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นประเทศเขตร้อน ทำให้การขยายตัวการส่งออกของเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รวมถึงตู้เย็น มีความต้องการที่ขยายตัวสูงในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้โทรทัศน์และเครื่องซักผ้าก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ จากปัจจัยต่างๆข้างต้นทำให้ตลาดกลุ่มอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตและยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 จะมีมูลค่าประมาณ 24,050-24,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5-9.0 (YoY)
ประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะปานกลาง
ความท้าทายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นได้รับแรงผลักดันจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ซึ่งแม้ว่าผู้ผลิตรายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยไว้เช่นเดิม แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสถานะของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ เริ่มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เคยเอื้อต่อการลงทุนก็เริ่มลดน้อยลงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ค่าใช้จ่ายในการบริหารความเสี่ยง ค่าประกันภัย เพื่อรองรับกรณีเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะปรับใหม่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะมีผลต่อการกำหนดอนาคตการลงทุนของหลายๆ อุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับการให้สิทธิประโยชน์ ซึ่งถ้ามีการให้แรงจูงใจพิเศษแก่อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ในกิจการการผลิต เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิตอล จอแสดงผลแบบแบน หลอดไฟ LED เป็นต้น ก็อาจดึงความสนใจของนักลงทุนได้ ขณะที่หากมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องการจ้างแรงงานต่างด้าว ก็อาจช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงขึ้นได้
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสินค้า ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำต่างพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโทรทัศน์ระบบ 3D ซึ่งสินค้าใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างมีเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกมีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีความพร้อม เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ในทุกระดับของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งประเทศไทยคงต้องจับตามองมาตรการส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนของภาครัฐรวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชนในการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคต