กางยุทธศาสตร์ต้านคอร์รัปชัน ตั้ง
ประกาศแผนปฏิบัติการปี 2556 ใน 4 พันธกิจ เกาะติดโครงการคอร์รัปชัน ติดตามเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าวและพืชผลทางการเกษตร โครงการเงินกู้ 2.2 เเสนล้านบาท โครงการเงินกู้ 350,000 ล้านบาทเพื่อป้องกันน้ำท่วม นำร่องโครงการ “ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจากภาคเอกชน” เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แผนปฎิบัติการในปี 2556 นี้ ได้ยึดหลักการปลูกฝัง ป้องกัน และเปิดโปง ด้วย 4 พันธกิจ ได้แก่ 1.สร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ รวมถึงการกระตุ้นสร้างจิตสำนึก ให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีศักยภาพสูงสุด
2. สร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล เช่นการร่วมมือกับ ปปช. ออกกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้รัดกุมโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ และการร่วมทำงานกับองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สสส. ในการจัดกิจกรรมต้านคอร์รัปชันให้กระจายสู่ชนบท การขยายเครือข่ายปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในการสนับสนุนโครงการโตไปไม่โกง
3.สนับสนุน ชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและบังเกิดผล เช่น การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคอร์รัปชัน เช่น การยกเลิกอายุความของคดีคอร์รัปชัน และให้มีกฎหมายลงโทษบริษัทเอกชนที่ทำการคอร์รัปชัน เพื่อสร้างให้ประเทศไทยมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ และพันธกิจสุดท้ายคือการสร้าง แรงจูงใจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดต้นแบบของสังคม ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล
โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะร่วมมือกับภาคสื่อมวลชนในการเปลี่ยนทัศนคติ โดยการเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์เรื่องจริยธรรมและการปลูกฝังให้ประชาชนร่วมมือกันไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน และยังจะร่วมกันส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย
สำหรับโครงการนำร่องโครงการแรกในปีนี้คือ ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้บรรลุเป้าหมายและประสบผล และร่วมสร้างมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลย์ รวมไปถึงการร่วมพัฒนาเปลี่ยนแปลงบุคลากรและระบบงานของหน่วยงานของรัฐที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับ คอร์รัปชัน เพิ่มเติมจากที่หน่วยราชการจะต้องยื่นเรื่องด้วยตนเอง โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯจะทำการเผยแพร่โครงการสู่ภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธนาคารฯ สำนักงาน กลต.
โครงการนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน หรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นช่องทางหรือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน โดยกำหนดรวบรวมข้อมูลภายในวันที่ 15 มีนาคม 2556 และจะทำการจัดแยกหมวดหมู่ ลำดับความสำคัญของข้อเสนอแนะและเสนอต่อรัฐบาลในภาพรวมถึงต้นตอของปัญหาและแนวทางการแก้ไข และนำเสนอต่อ สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อขอให้รับไปดำเนินการต่อตามกระบวนการในขั้นตอนสุดท้าย
นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาว และยังเป็นการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาได้อย่างเสรี มีโอกาสเท่าเทียมกันและมีต้นทุนที่เหมาะสม ทำให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจในการลงทุน ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย โดยวางบทบาทในการป้องกัน ปลูกฝัง และเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ปรับนโยบายการบริหารงานในรูปแบบมูลนิธิ เพื่อสร้างองค์กรให้น่าเชื่อถือ ผนึกกำลังและประสานงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและสื่อมวลชน ร่วมดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อขับเคลื่อนพลังสังคมต่อต้านคอร์รัปชันของชาติที่ทรงประสิทธิภาพ พร้อมขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคและต่างประเทศ ชี้นำนโยบายรัฐ