สธ.ยัน โรงพยาบาล
เเม้จะทราบข่าวว่าโรงพยาบาลศิริราช เเละโรงพยาบาลของรัฐหลายเเห่ง มีนโยบายปรับอัตราค่าบริการเพิ่ม เเต่ยายเเป๋ว สวนเกิด ผู้เข้ารับบริการโรงพยาบาลศิริราชวัย 75 ปีคนนี้ กลับไม่มีความกังวลเเม้เเต่น้อย เพราะเชื่อมั่นในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของลูกชาย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ของรัฐบาล การปรับขึ้นค่าบริการครั้งนี้ ยายแป๋ว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเธอ
คณบดีคณะเเพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้เเจงว่า การปรับขึ้นค่าบริการครั้งนี้่ เป็นไปตามอัตราต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราช ทำตามนโยบายของรัฐบาลทั้งการปรับฐานเงินเดือนสำหรับพนักงานที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายทางด้านยา ที่หันมาใช้ยาที่ผลิตเองภายในประเทศ ส่งผลให้หลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลขาดรายได้ส่วนนี้ไป 900-1,000 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าบริการครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพจาก 3 กองทุน ดังนั้นค่าบริการทั้งหมดจะเป็นการคิดค่ารักษา เรียกเก็บเงินภายในระหว่างสถานพยาบาลกับ 3 กองทุนสุขภาพเท่านั้น เเละจะไม่กระทบต่อคุณภาพบริการ ซึ่งการจ่ายยารักษายังคงเป็นไปตามมาตรฐาน
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมปรับปรุงอัตราค่าบริการเช่นกันใน 8 หมวด หลังจากก่อนหน้านี้ใช้อัตราเดิมมาตั้งเเต่ปี 2547 โดยจะมีรายการใหม่เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิมที่มีอยู่ 1,955 รายการ รวมเเล้วมีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ โดยรายการที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเพิ่มถึงร้อยละ 53 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมาคือค่ารังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์เเละรังสีรักษา เพิ่มร้อยละ 23 ส่วนรายการที่เพิ่มต่ำสุด คือค่าบริการเทคนิคการเเพทย์ อยู่ที่ร้อยละ 8
อัตราค่าบริการใหม่นี้ ใช้หลักเกณฑ์การคิดเช่นเดียวกับปี 2547 ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ต้นทุนค่าเเรง ต้นทุนค่ายาเเละวัสดุ ต้นทุนค่าครุภัณฑ์เเละอื่นๆ หลังจากนี้จะทำเป็นประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใช้เป็นเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน รวมถึงผู้ที่ใช้บริการประกันชีวิตกับบริษัทเอกชนต่างๆด้วย คาดว่าจะลงนามได้ภายในสัปดาห์นี้ เเละจะประกาศใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติ ในเดือนมีนาคมนี้