คาด ปี2556 ต่างชาติเข้าไทย 24.5 ล้านบาท ดึงรายได้ 1 ล้านล้านบาท
จับตาปัจจัยเสี่ยง ค่าจ้างแรงงาน 300บาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดทิศทางการท่องเที่ยวไทยในปี2556 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 24.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 หากเปรียบเทียบกับปี 2555 โดยคาดว่าจะรายได้เข้าประเทศ ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 โดยค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องของไทยในปี 2555 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 926,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
แม้ว่าในปี 2555 จะมีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบการท่องเที่ยวไทยในบางช่วงเวลา อาทิ ในช่วงต้นปีได้เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย แต่เนื่องจากความหลากหลายด้านแหล่งท่องเที่ยว และความพร้อมในด้านบริการรองรับนักท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เกื้อหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยขยายตัวมาได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ธุรกิจการบินโดยเฉพาะธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ ได้ขยายเส้นทางบินมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยนอกเหนือจากเส้นทางบินมายังกรุงเทพมหานครแล้ว ธุรกิจการบินบางสายยังได้จัดตารางเที่ยวบินตรง และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ มายัง ประเด็นสำคัญ
แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยอีกด้วย เช่น เที่ยวบินตรงจากเมืองท่าสำคัญของจีนมายังเกาะภูเก็ต เกาะสมุย อู่ตะเภา และเชียงใหม่ รวมทั้งการขยายเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่-ภูเก็ต เชียงใหม่-หาดใหญ่ ภูเก็ต-อุดรธานี ภูเก็ต-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-กระบี่ กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช และ กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
รวมถึงเส้นทางบินไปยังจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญตามแนวชายแดน เช่น กรุงเทพฯ-อุดรธานี และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนได้จัดทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการนำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าท่องเที่ยวสำคัญๆ ในต่างประเทศ
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมา คือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะตลาดกลุ่มไมซ์ (ทั้งกลุ่มประชุมสัมมนา และกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) จากเมืองท่าสำคัญ อาทิ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว เสิ่นเจิ้น เฉิงตู หังโจว ซีอาน และฉงชิ่ง นอกจากนี้ ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น และ ตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งล้วนเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยต่างร่วมกันเร่งขยายสัดส่วนของตลาดกลุ่มนี้ให้เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจุดเด่นในด้านบริการที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวในไทย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (อาทิ ภูเขา หาดทราย ชายทะเล เกาะแก่ง) และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (อาทิ แหล่งช้อปปิ้ง สวนน้ำ-สวนสนุกกลางแจ้ง) ที่สามารถจะจูงใจดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว การท่องเที่ยวไทยยังได้รับแรงบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ที่เริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ปัจจัยสนับสนุนเฉพาะทางธุรกิจ อาทิ การขยายเส้นทางการบิน/ การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินของธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ และธุรกิจการบินแบบเช่าเหมาลำ ที่บินตรงเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น และการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางเข้ามาติดต่อลงทุนทำธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยเช่นกัน ประกอบกับการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมด้านการตลาด ซึ่งรวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้ไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยว และจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ท้าทายศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวของไทย เพราะปัจจัยเสี่ยงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2556 อาทิ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะด้านการให้บริการ ดูแลเอาใจใส่ด้วยความเป็นไทย ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งนอกจากการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการ โดยเฉพาะธุรกิจด้านที่พัก (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มอัตราค่าบริการมาหลายปี)แล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องปรับแผนการตลาด โดยมุ่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ที่มีกำลังซื้อสูงและมีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก ควบคู่กับการปรับรูปแบบการให้บริการ และเพิ่มคุณภาพการบริการให้สอดคล้อง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กร ทั้งในแง่การปรับปรุง/ เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ธุรกิจให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพัฒนาทักษะแก่พนักงานผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว (โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ)
ตลอดจนการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ (ทั้งในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน) นอกจากนี้ ควรติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาท ที่อาจแข็งค่าขึ้นมากจนมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มได้
ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบในเชิงลบ จากภาพลักษณ์ความไม่ปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงหามาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวมีความรุนแรงไม่เฉพาะระดับภายในประเทศเท่านั้น
แต่ในระดับประเทศก็มีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของ แต่ละประเทศ ต่างทุ่มงบจัดแคมเปญการตลาดกันอย่างหนัก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศของตน ซึ่งหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยไม่เร่งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตน ก็อาจมีผลต่อธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้าได้