บทบาท
เจ้าหน้าที่ยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเชิญตัวผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ในอ.ยะรัง จ.ปัตตานีไปสอบสวนเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา แต่การใช้กฎหมายพิเศษเช่นนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงยืนยันกับที่ประชุมร่วมเอกอัครราชทูต ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ๑๕ ประเทศที่เดินทางมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ารัฐใช้กฎหมายพิเศษเท่าที่จำเป็นและไม่เคยเลือกปฏิบัติว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวจะนับถือศาสนาใด แต่เพราะผู้ก่อเหตุมักปฏิบัติการในทางลับ และมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสอบสวน แต่ในบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย อย่างในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าก็ได้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษไปแล้ว
อีกหนึ่งข้อมูลที่หน่วยงานด้านความมั่นคง พยายามนำเสนอไปยังตัวแทนของโอไอซี คือ การตั้งเป้าหมายว่าอีก สองปีข้างหน้า จะมีการปรับลดกำลังหลักในพื้นที่ ให้เหลือเพียง 9 กองพัน และจะทยอยถอนกำลังบางส่วน 3 กองพันในปีนี้ โดยจะส่งคืนพื้นที่ให้ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดนดูแล รวมถึงการเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์ความรุนแรง หรือจากการกระทำของรัฐ โดยเฉพาะกรณีมัสยิดกรือแซะ และกรณีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ กว่า ๒๐๐๐ ล้านบาท สร้างความพอใจให้สมาชิกโอไอซี
เอกอัครราชทูตประเทศตุรกี ประจำประเทศไทย บอกว่า พอใจในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะยุติความรุนแรง จึงมีความเป็นไปได้ว่า การทำข้อตกลงร่วมของโอไอซีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในเนื้อหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นผลบวกต่อทางการไทย
โอไอซีมีสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ โดยไทยอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ แต่ในช่วง ๙ ปีที่ผ่านมาปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัด ถูกจับตามองจากโอไอซีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ การเลือกปฏิบัติ แต่ทางการไทยก็พยายามอย่างเต็ม ที่จะชี้แจงถึงข้อกล่าวหาเหล่านี้ ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่