กสทช.เชิญ 13 ช่องกิจการโทรทัศน์ ฟังสิทธิประมูลทีวีดิจิตอล 5 ก.พ.นี้
โดยหลักเกณฑ์การประมูลต่างๆ ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กสทช.แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขบางประเด็นให้กรรมการสามารถยกเลิกการประมูลได้
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการแพร่ภาพแห่งชาติ (กสทช.)จะเชิญเอกชนในกิจการสื่อโทรทัศน์ อย่างน้อย 13 บริษัท ร่วมรับฟังแนวทางการตัดสินใจว่า จะได้สิทธิประมูลทีวีดิจิตอลบริษัทละกี่ช่อง
ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า โดยกรอบคร่าวๆ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการประมูลทีวีดิจิตอล 48 ช่อง ขณะนี้เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะสรุปราคาตั้งต้นการประมูลในช่องธุรกิจ 24 ช่อง รวมทั้งจำนวนช่องรายการ ที่เอกชนมีสิทธิ์ถือครอง โดยวันพรุ่งนี้ คณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล จะเชิญเอกชนอย่างน้อย 13 ราย รับฟังแนวทางพิจารณา ซึ่งหากได้ข้อสรุป ก็จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.ชุดใหญ่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์
ในส่วนเดือนมีนาคม หรือ เมษายน จะเป็นช่วงออกใบอนุญาตโครงข่ายให้ผู้ประกอบกิจการ จากนั้น จะออกประกาศเชิญชวน
ขณะที่เดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน จะเป็นการให้ใบอนุญาตทีวีช่องสาธารณะ 12 ช่อง และจะเป็นครั้งแรกที่ประชาจะได้รับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลจากกลุ่มประเภทนี้เป็นเป็นกลุ่มแรก
สำหรับช่องธุรกิจ 24 ช่อง จะเริ่มประมูล ในเดือน สิงหาคม หรือกันยายน และให้ใบอนุญาต ซึ่งมีอายุครอบครองนาน 15 ปี โดยการประมูลครั้งนี้ กสทช.คาดว่าจะมีบริษัท ที่เข้าร่วมอย่างน้อย 25 ราย และเพื่อให้อุปกรณ์รับชมสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล มีคุณภาพ ในช่วงกลางเดือนนี้ กสทช.จะเปิดให้บริษัท นำกล่องสัญญาณ ไปตรวจสอบคุณภาพ หากได้มาตรฐาน ก็สามารถจำหน่ายได้ทันที
ขณะที่ รูปแบบการประมูล จะใช้วิธีประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเลคทรอนิคส์ หรือ อี-ออคชั่น เนื่องจากเป็นวิธีที่เข้าใจง่าย และผู้เข้าประมูลทุกรายสามารถ เห็นรายละเอียดได้
โดยจะแยกการประมูล ออกเป็นตามประเภทช่องรายการที่กสทช.กำหนด ได้แก่ ช่องรายการข่าว 5 ช่อง / เด็ก,เยาวชน 5ช่อง และช่องรายการทั่วไป แบบความคมชัดปกติ หรือ เอสดี 10 ช่อง และแบบคมชัดสูง หรือ เอชดี จำนวน 4 ช่อง โดยหากมีผู้เข้าร่วมประมูล ไม่ถึงจำนวนช่องในแต่ละกลุ่ม กรรมการฯ ก็มีสิทธิ์ยกเลิกการประมูลในช่วงนั้นได้ทันที