ผู้จัดการสนามราชมังคลาฯ ยันพื้นสนามได้รับการดูเเลอย่างดี
ตั้งแต่เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 สนามราชมังคลากีฬาสถาน เปิดใช้มาแล้ว 15 ปี ราชมังคลากีฬาสถานเป็นสนามกีฬาที่สำคัญและมีความจุผู้ชมมากที่สุดของไทยในเวลานี้ โดยรองรับผู้ชมได้เกือบ 50,000 คน สิ่งสำคัญของสนามฟุตบอลก็คือพื้นสนามหญ้าที่ใช้หญ้าพันธ์เบอร์มิวด้าที่มีลักษณะใบ ปานกลาง สีเขียวเข้ม พร้อมกับการบำรุงรักษาที่ต้องพิถีพิถัน งบประมาณที่ใช้ดูแลพื้นสนามแห่งนี้สูงเกือบ 90,000 บาทต่อเดือน
ในการดูแลเจ้าหน้าที่ต้องตัดหญ้าซึ่งกำหนดให้มีความสูงประมาณ 2.1 เซนติเมตร ขณะที่ประเด็นการดูแลรักษาหญ้าในสนามราชมังคลากีฬาสถานกำลังสร้างความกังวลต่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียในการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีคัพกับคูเวตในวันพุธนี้ (6 ก.พ.) เพราะวัชพืชกำลังลุกลามเป็นปัญหา โดยวัชพืชที่พบส่วนใหญ่ก็คือ กก และหญ้าแห้วหมู เจ้าหน้าที่ต้องใช้ยาฉีดพ่นเพื่อให้วัชพืชเหล่านี้ตาย
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสนามเป็นผลมาจากการจัดการแข่งขันเรซ ออฟ แชมเปี้ยน ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นอกจากทำให้หญ้าบางส่วนเสียหายแล้ว ยังมีกระแสข่าวว่าเกิดเชื้อราขึ้นปะปนจึงเกรงว่าสนามแห่งนี้จะไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีคัพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแลสนาม ยืนยันว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดร่องรอยกับพื้นสนาม ซึ่งต้องรออีกประมาณ 20 วัน เพื่อให้หญ้าเบอร์มิวด้าฟืนตัวสวยงามตามปกติ
สนามราชมังคลากีฬาสถาน ปัจจุบันรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากฟุตบอล ทั้งนี้เป็นระบบการจัดการของการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อนำรายได้เข้ารัฐ เช่น การแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงล่าสุดในการแข่งขันเรซ ออฟ แชมเปี้ยน
ผู้ดูแลสนาม ยืนยันว่า คุ้มค่าต่อการให้เช่าพื้นที่ เพราะมีรายได้อย่างน้อยครั้งละ 1 ล้านบาท ไม่รวมค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยในเดือนมีนาคมนี้มีคอนเสิร์ตใหญ่อีก 3 งาน ในขณะที่การพื้นฟูหญ้าในสนามต้องใชเวลามากถึง 60 วันจึงจะสมบูรณ์ หลายคนจึงเป็นห่วงเรื่องคุณภาพของพื้นหญ้าที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาในเวลาต่อมานั่นเอง