ผู้บริหาร WHO ประเทศไทยปฏิเสธข้อกล่าวหากักขัง-ทารุณลูกจ้างทำงานบ้าน
ทนายความให้การแทนตัวนายโยนัสว่า นายโยนัสมีข้อตกลงกับลูกจ้างว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ครั้งเดียว คือ เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อผู้เสียหายได้ จึงนำเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือมาคืนให้
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งเป็นชาวเอธิโอเปีย เข้าแจ้งตำรวจ และขอความช่วยเหลือผ่านอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายความ และกล่าวหาว่า นายจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กักขัง ทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในลักษณะค้ามนุษย์ และไม่ได้ทำตามข้อตกลงการจ้างงาน และขณะนี้ผู้เสียหายอยู่ในความดูแลในบ้านพักแห่งหนึ่ง ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรอขั้นตอนตามกฎหมาย และเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจ
ทนายความของนายโยนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า นายโยนัสและภรรยาได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองด้านการทูต ที่จะไม่ถูกดำเนินคดีในประเทศไทย แต่เข้าพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ขณะที่ตัวแทนฝ่ายผู้เสียหายเปิดเผยว่า ได้แจ้งความนายโยนัสเพิ่มเติมจากเดิมกล่าวหาไปแล้ว 4 ข้อหา คือ ทำร้ายร่างกาย กักขัง บังคับให้เป็นทาส และค้ามนุษย์ ส่วนข้อหาที่แจ้งเพิ่มเติม คือ ข้อหาฉ้อโกงและยึดหนังสือเดินทางของผู้เสียหายไว้
ทนายความฝ่ายลูกจ้างทำงานบ้านของนายโยนัส ซึ่งเป็นผู้เสียหาย บอกว่า นายโยนัสและครอบครัวไม่ควรได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองด้านการทูต เพราะเป็นความผิดส่วนตัว ไม่ใช่จากการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนองค์การอนามัยโลกและองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ กรุงเจนีวา ได้ประสานมาเพื่อขอข้อมูลหลักฐานแล้ว