จ.ยโสธรประกาศพื้นที่วิกฤติน้ำ หลังแม่น้ำชีเริ่มแห้งขอด
สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ ล่าสุดจังหวัดยโสธรเตรียมประกาศเป็นพื้นที่วิกฤติน้ำ หลังแม่น้ำชีเริ่มแห้งขอด จนเกิดสันทรายกลางลำน้ำ
ระดับน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านจังหวัดยโสธรแห้งขอดจนเกิดสันทรายกลางน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากฝนทิ้งช่วงและการสูบน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกร ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดเข้าสู่ขั้นวิกฤติ
นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้เตรียมประกาศให้จังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่วิกฤติน้ำ ห้ามนำน้ำไปใช้ในการเกษตรกรโดยเด็ดขาดหลังระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าปริมาณน้ำที่เหลืออยู่จะสามารถใช้ได้เพียง 20 วัน ขณะที่บริเวณฝายยโสธร-พนมไพร ปริมาณน้ำลดลงวันละประมาณ 5 เซนติเมตร
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 19 แห่ง ของจังหวัดบุรีรัมย์ ระดับน้ำลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยสวายซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง, อำเภอกระสัง และอำเภอห้วยราช ขณะนี้ปริมาณเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 ชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์จึงเสนอให้การประปาจัดงบประมาณเพื่อสูบน้ำเติมในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งและรณรงค์งดปลูกข้าวนาปรัง
เช่นเดียวกับจังหวัดชัยนาทสำนักชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท แจ้งเตือนให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน งดทำนาปรังเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย หลังปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือเพียงร้อยละ 50