ใครว่าแค่การ “แทงหยวก” จะเป็นเรื่องกล้วยๆ ....
ขอค้าน!! ... ขอค้าน!! ...
เพราะไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ความปราณีต พิถีพิถัน หรือแม้แต่การจัดตกแต่งก็ดูเหมือนจะยากแสนยาก
ไม่ชำนาญจริง ไม่เรียนรู้มาจริง ... พูดได้คำเดียวว่า “ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ แน่นอน...
ทั้งลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายน่องสิงห์ หรือแข้งสิงห์ ลายฟันบัว ลายเครือวัลย์(ลายกนก) แต่ละลายล้วยแล้วแต่ต้องใช้ความชำนาญในการทำทั้งสิ้น ซึ่งโครงการเสน่ห์บางลำภู ผ่านงานศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้มีการนำเรื่อง “ศิลปะการแทงหยวก” มาเผยแพร่และสอนแก่เยาวชนและคนทั่วไปได้เรียนรู้
โดยมีลุงจ้อย หรือนายวีระ แดงแนวโต อายุ 54 ปี ช่างแทงหยวกมือทองชาวชุมชนวัดใหม่อมตรส ผู้คลุกคลีอยู่กับงานแทงหยวกมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ บอกว่า ศิลปะ “แทงหยวก” เป็นงานแกะสลักหยวกกล้วยที่ถือเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของไทย นิยมนำมาใช้ประดับตกแต่งบนแท่นเชิงตะกอนในงานฌาปนกิจศพให้มีความสวยงาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ล่วงลับมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
ต้นกำเนิดการแทงหยวกนั้น “ชาวมอญ” เป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาในประเทศไทยสมัยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันศิลปะการแทงหยวก แทบจะเลือนหายไปจากสังคมไทย หาพบเห็นได้ยากแล้ว
วิธีแทงหยวกนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้วย ซึ่งต้องเป็นต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นสาวๆ (ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกผล) เมื่อได้ต้นกล้วยที่ต้องการมาแล้วตัดหัวท้ายออกให้ได้ขนาดที่ต้องการ การตัดหยวกที่จะนำไปสลัก จำเป็นต้องตัดหยวกให้มีขนาดยาวกว่าขนาดของโครงแบบประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพราะในการประกอบแผงหยวกเข้ากับโครงแบบนั้น จะต้องมีการเฉือนหยวกออกเล็กน้อยให้เป็นมุม 45 องศา เพื่อให้หยวกประกบกันได้สนิทเป็นมุมฉากในการเข้ามุม
ส่วนการลอกกาบให้ลอกออกทีละชั้น เพราะกาบนอกสุดจะมีรอยตำหนิ สีไม่สวยงาม ให้ลอกทิ้งไป กาบรองลงมาแม้จะมีสีเขียวก็นำไปใช้รองด้านในได้จึงควรแยกไว้ต่างหาก โดยการลอกกาบกล้วยนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ช้ำเพื่อวามสวยงามของการแกะ
เมื่อได้กาบกล้วยที่ต้องการแล้วช่างส่วนใหญ่จะนำมาแทงเป็นลวดลายต่างๆ อย่างลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายน่องสิงห์ หรือแข้งสิงห์ ลายฟันบัว ลายเครือวัลย์(ลายกนก) หรืออื่นๆ ตามความถนัด เมื่อทำลายเพียงพอตามความต้องการเเล้วถึงขั้นตอนการประกอบหยวก เพื่อทำเป็นเสาล่าง พรึง เสาบน รัดเกล้าเเละฐานล่าง โดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่เย็บให้ติดกันเเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ
ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการถ่ายทอดวิชาช่างประเภทนี้มากนักเพราะขาดผู้สนใจและนิยมใช้ ประกอบกับช่างเเทงหยวกต้องไม่กลัวผีเพราะต้องทำตอนกลางคืน ส่วนใหญ่จะทำที่วัด ล่วงหน้าก่อน 1 คืน ต้องทำกลางคืนและติตตั้งเช้า หยวกกล้วยจะไม่เหี่ยวเเห้ง ยังคงความสวยงามอยู่จนถึงเวลาประชุมเพลิงทำให้ทุกวันนี้มีช่างแทงหยวกหลงเหลืออยู่น้อยมาก!!
“การแทงหยวก” เป็นงานที่น่ารักษาเพราะเป็นการช่วยให้เรารักษาวัฒนธรรมอันนี้ไว้ให้สืบต่อไปให้ลูกหลานและยังสามารถประกอบเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงอีกด้วย