ในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไจก้า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องก่อสร้างเครื่องมือหลายประเภท ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น สร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม, สร้างเส้นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือ ฟลัดเวย์ ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครให้เสร็จภายใน 2 ปี และฝั่งตะวันตกภายใน 5-6 ปี, จัดทำแก้มลิงในทุ่งภาคกลาง, เปลี่ยนแผนระยะเวลาการปลูกข้าวใหม่, ใช้จังหวัดนครสวรรค์เป็นจุดชี้วัดการปัญหาน้ำท่วม แทนเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
ขณะที่ไจก้านำเสนอว่า ร่างแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมประเมินผลว่า แผนสิ่งก่อสร้างต่างๆที่รัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างถึง 10 โครงการ มูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาทนั้น อาจไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ เพราะสามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างทดแทนได้ เช่น สนับสนุนให้ชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้โดยไม่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเกิดน้ำท่วม
ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำ และอุทกวิทยา กรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่า การศึกษาที่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นเพียงข้อมูลประกอบเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลไทยเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญจากไจก้ายังเสนอด้วยว่า รัฐบาลไทยควรบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหาน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นหลัก ร่วมกับการปรับปรุงขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างทางระบายน้ำหรือฟลัดเวย์เพิ่มขึ้น บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขยายคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ โดยงบประมาณการก่อสร้างจะลดลงได้ถึงร้อยละ 70