แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ โตชะลอลง หลังขาดแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ
สิ้นปี 2555 ยอดเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงิน (รวมธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) มีจำนวนทั้งสิ้น 2.26 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.31 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2554 หรือเติบโตกว่าร้อยละ 11.4
โดยการเติบโตอย่างโดดเด่นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2555 นั้น คาดว่ามีสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและอาคารชุดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า และที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ที่ไม่โดนน้ำท่วม
นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2555 ที่ปรับตัวลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ (จาก 3.25% ณ สิ้นปี 2554 มาที่ 2.75% ณ สิ้นปี 2555) ผนวกกับแรงหนุนจากมาตรการพิเศษของภาครัฐ ทั้งมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ย 3% นาน 5 ปี (ซอฟท์โลน) มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และโครงการบ้านหลังแรกดอกเบี้ย 0% นาน 3 ปี ก็มีส่วนหนุนให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยกลับมาคึกคักกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจเติบโตได้ในอัตรา 8.0% - 9.0% หรือคิดเป็นยอดเงินให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสุทธิ 190,000 - 210,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลง เมื่อเปรียบเทียบกับภาพการเติบโตในปี 2555 หลังมาตรการต่างๆ ของภาครัฐสิ้นสุดลง นอกจากนั้น การกำหนดอัตราส่วนวงเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value Ratio: LTV Ratio) ไม่เกิน 95% สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2556 ของธนาคารแห่งประเทศไทย คงมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์บ้างบางส่วน รวมถึงอาจทำให้ผู้ต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านออกไป เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านเงินทุน
ส่วนเป้าหมายของการขยายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2556 นี้ คงเน้นไปที่ 2 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังใหม่สำหรับธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง พร้อมรักษาส่วนแบ่งตลาดการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ
ส่วนทิศทางการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2556 นี้ คาดว่า คงมาจากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองเป็นหลัก โดยธนาคารพาณิชย์ยังคงเน้นการจับมือกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคุณภาพ พร้อมกำหนดแคมเปญด้านราคาออกเป็นหลายขั้น อาทิ อัตราดอกเบี้ยคงที่/ลอยตัว นาน 1 - 3 ปี ตามชั้นรายได้ วงเงินกู้ ตลอดจนกลุ่มอาชีพพิเศษ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความสามารถในการผ่อนชำระ นอกเหนือไปจากการให้วงเงินสินเชื่อพิเศษที่มากกว่ามูลค่าหลักประกันแก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตร
ในสถานการณ์ที่สังคมกังวลต่อปัญหาการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และภาวะร้อนแรงของระดับราคาที่อยู่อาศัยในบางทำเล คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกแคมเปญที่อาจมีส่วนกระตุ้นการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยของลูกค้ารายย่อย ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการศึกษาความต้องการและอำนาจซื้อของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการระมัดระวังการเก็งกำไรที่อาจเกิดขึ้น
แม้ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์จะยังคงรักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อบ้าน การบริหารความเสี่ยง และการกันสำรองที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ทางการกำหนด ทำให้สามารถตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ก็ตาม