ก.อุตฯ ชง“แผนจัดการมลพิษอุตสาหกรรม” เทงบฯ 5.8 พันล้าน จี้โรงงานทั่วไทย สร้างโลกสวย
“ปลัดวิฑูรย์ฯ” ชี้แผนจัดการมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2555-2559 เสร็จแล้วใช้จัดการมลพิษภาคอุตสาหกรรม ทุกกรมฯ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ 124 แผนงาน/โครงการ เพื่อหยุดมลพิษภาคอุตฯ อีก 5 ปีดีกว่าเดิม
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยถึงความคืบหน้าแผนจัดการมลพิษของภาคอุตสาหกรรมว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนจัดการมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2555-2559 ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแผนดังกล่าวผ่านการขอความเห็นจากหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีผู้แทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมดำเนินการด้วย ตามความเห็นของคณะรัฐมนตรี
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มั่นใจว่าแผนจัดการมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2555-2559 มีการบูรณาการ สอดคล้องกับแผนจัดการมลพิษ ที่จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำให้การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในอีก 5 ปีข้างหน้า เดินหน้ารองรับการลงทุนใหม่ๆ ได้ ซึ่งใช้งบประมาณตามแผนทั้ง 5 ปีรวมกว่า 5,800 ล้านบาท ประกอบด้วย 124 แผนงาน/โครงการ ภายใต้การกำกับดูแลของทุกกรมและรัฐวิสาหกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ผลที่ได้จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดีโดยเฉพาะด้านการจัดการมลพิษ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างผาสุก โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับแนวทางจัดการมลพิษของแผนฯ แบ่งเป็น 5 แนวทาง คือ 1.การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้งบประมาณ 3,980 ล้านบาท มีตัวชี้วัด เช่น โรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียได้ทั้งหมด (Zero Waste To Landfills) ไม่น้อยกว่า 10 ราย/ปี เกิดเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ จำนวน 10 แห่ง มีสถานประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน 50,000 ราย
2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุมแหล่งกำเนิด ใช้งบประมาณ 1,390 ล้านบาท มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ การเข้าตรวจสอบโรงงานทุกโรงงานตามแผนประจำปี การมีฐานข้อมูลสถานประกอบการอุตสาหกรรม คุณภาพน้ำทิ้งในแม่น้ำสายหลักเป็นไปตามมาตรฐาน และการตอบสนองต่อปัญหาข้อร้องเรียนด้านมลพิษร้อยละ 100 เป็นต้น
3.การกำกับดูแลการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในภาคอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณ 137 ล้านบาท มีตัวชี้วัดคือ ภาคอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎหมายด้านกากอุตสาหกรรมและของเสียอันตราย ร้อยละ 100
4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ใช้งบประมาณ 190 ล้านบาท มีตัวชี้วัดคือ การสร้างเครือข่ายจำนวน 200 เครือข่าย/ปี
5.การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือให้สอดคล้องกับข้อตกลง/พันธกรณีระหว่างประเทศ ใช้งบประมาณ 102 ล้านบาท มีตัวชี้วัดอย่างน้อยคือ มีคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศกลุ่มอาเซียน และมาตรการรองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศของภาคอุตสาหกรรม
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการมลพิษในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เป็นเรื่องความตระหนักของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปัญหาข้อจำกัดในองค์ความรู้ของบุคลากรที่รับการถ่ายโอนภารกิจในการกำกับดูแลโรงงาน ระบบฐานข้อมูลมลพิษยังไม่สมบูรณ์ ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่ได้รับการร้องเรียนสูงสุด คือ เรื่องกลิ่นเหม็น เสียงดัง ฝุ่นละออง ควัน การลักลอบทิ้งน้ำเสีย และกากของเสีย ตามลำดับ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดรายงานเหตุฉุกเฉินจากการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม และเรื่องร้องเรียน ประจำเดือนมกราคม 2556 พบว่า มีเหตุฉุกเฉินทั้งสิ้น 18 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วทุกเรื่อง แบ่งเป็น เหตุเพลิงไหม้ จำนวน 8 เรื่อง ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุสารเคมีรั่วไหล จำนวน 3 เรื่อง มีผู้บาดเจ็บ 1 รายและเสียชีวิต 1 ราย (เกิดขึ้นระหว่างคนงานเข้าไปซ่อมบ่อผลิตก๊าซมีเทนและเกิดอุบัติเหตุ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่ง บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด หยุดประกอบกิจการจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2556) และเหตุชุมนุมคัดค้าน จำนวน 7 เรื่อง
ส่วนเรื่องร้องเรียน มีทั้งสิ้น 31 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 26 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 5 เรื่อง โดยพบว่าเป็นเรื่องกลิ่นเหม็น ร้อยละ 29 ฝุ่นละออง-ควัน ร้อยละ 26 อื่นๆ ร้อยละ 19 น้ำเสีย ร้อยละ 14 เสียงดัง ร้อยละ 10 และลักลอบทิ้งสิ่งปฏิกูล กากอันตราย ร้อยละ 2