เปิดแผนแม่บท
ผู้เชี่ยวชาญไจก้านำเสนอร่างแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จัดทำร่วมกับหลายหน่วยงานของไทย พบว่า แผนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยจะสร้างถึง 10 โครงการ มูลค่ากว่า 350,000 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ
เพียงแค่ไทยควรจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ให้ดีกว่านี้ ขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ระบายน้ำให้ดีขึ้น สร้างทางระบายน้ำหรือฟลัดเวย์เพิ่มขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขยายคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อให้ชุมชนในที่ราบลุ่มภาคกลางอยู่กับน้ำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณการก่อสร้างลดลง เหลือเพียง 105,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ. ยังคงยืนยันว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องก่อสร้างทุกโครงการ เช่น ต้องสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม และเส้นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือ ฟลัดเวย์
แต่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน. อธิบายว่า แผนแม่บทที่ไทยใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน ก็เกิดจากการศึกษาของไจก้า หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 เมื่อรัฐบาลไทยขอให้ไจก้าศึกษาปรับปรุงแผนแม่บทให้ใหม่ในเวลานี้ ก็ควรเลือกสร้างเพียงบางโครงการ อย่างที่ไจก้าเสนอมา
ส่วน อรรถพล อรุโณรส ผู้นำเครือข่ายประชาชนคนปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ให้ความเห็นว่า การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อน และไม่ควรเพิกเฉยกับข้อมูลของไจก้า
คาดว่าแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของไจก้า จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่กรมชลประทานให้ข้อมูลว่า รัฐบาลจะนำแผนแม่บทของไจก้า มาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะก่อสร้างทั้ง 10 โครงการ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือไม่เท่านั้น