วันนี้ ( 1 มี.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงนามระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.กับ กลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งถือว่าดี และสมช.ซึ่งเป็นเจ้าภาพจะติดตามความและรายงานความคืบหน้าให้กับ ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต.ศปก.กปต.ทราบต่อไป
ทั้งนี้ ในการลงนามและเปิดการพูดคุยดังกล่าวจะช่วยให้ทราบความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ และจากการหารือกับทางกองทัพก็สามารถดำเนินการได้ช่วยได้ว่าแต่ต้องทำตามกฎหมายและหลักนิติธรรม รวมถึงการใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ม.21 ถือว่าทำได้ ส่วนเหตุที่ ร.ต.อ.เฉลิม มิได้ไปร่วมลงนามนั้นเนื่องจากทำหน้าที่รักษาการนายกฯ และติดการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร
รองนายกฯรัฐมนตรี ย้ำว่า แนวทางดังกล่าวมิใช่การยกระดับของกลุ่มต่าง ๆ และเป็นทางแก้ปัญหาที่พิจารณาตามความเหมาะสม แม้ว่าที่ผ่านมาจะรัฐบาลชุดต่าง ๆ จะไม่มีแนวคิดนี้มาก่อน และไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนซึ่งที่ผ่านมาไม่เป็นระบบ แต่ขณะนี้นายกรัฐมนตรีจัดให้เป็นระบบมากขึ้น
และหากกลุ่มต่างๆมีแนวคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนยืนยันว่า ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รวมถึงการจัดตั้งเขตปกคริงพิเศษก็ไม่สามารถทำได้และยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงเน้นการใช้เจรจาพูดคุยและการใช้ ม.21 เชื่อว่า จะสามารถช่วยในการแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากมีความเดือดร้อนน้อย
สำหรับการดูแลสถานการณ์จะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นและถอนกำลังทหารภายใน 2 เดือนหรือไม่นั้นยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป และสถานการณ์จะยังคงไม่ดีขึ้นรวดเร็วขนาดนั้น
รองนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนช่วย ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีส่วนช่วยในการดูแลประเทศมาโดยตลอดเรื่องจากมีความห่วงใยประเทศและอยากให้มีความสงบและถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการแก้ไขปัญหารวมถึงความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ก็อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการยืนยันว่าจะไม่ให้ที่พักพิง ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนการก่อการร้าย แต่ก็เสนอว่ารัฐบาลไทยจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง
ร.ต.อ.เฉลิม ยังระบุว่า ได้เตรียมหารือกับอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 กลุ่มวาดะห์ และพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ซึ่งเคยทำคดีปล้นปืน รวมถึงการเชิญ นายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้ต้องหาตามหมายจับ เข้าหารือเพื่อดำเนินการพูดคุยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ข้อตกลงในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้