ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใช้กระแส"ซีโร่ เวสท์" สร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 56
08:11
2,990
Logo Thai PBS
ใช้กระแส"ซีโร่ เวสท์" สร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์

ลดปัญหาขยะ ยึดแนวคิด “Zero Waste” เกาะกระแสความต้องการผู้บริโภคแนวใหม่ ชี้ช่วยลดปัญหาขยะ-ลดภาวะโลกร้อน เปิดช่องทางสู่เชิงพาณิชย์

 นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะศึกษาวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาระบบตลาด พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ขณะเดียวกันยังได้เร่งวิจัยการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรภายในประเทศด้วย เนื่องจากปริมาณวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยมุ่งเน้นให้ยึดแนวคิด “ของเสียเหลือศูนย์” หรือซีโร่ เวสต์(Zero Waste) เป็นหลักในการศึกษาวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้ ทั้งยังลดปัญหามลพิษและช่วยลดสภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง  

 
ขณะนี้สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กำลังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาวิจัยการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์หลายชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์จานชามจากเปลือกทุเรียน แผ่นใยอัดจากหยวกกล้วย ถุงหรือซองฟิล์มบรรจุเครื่องปรุงรสผลิตจากแป้งมัน ซองฟิล์มจากหยวกกล้วย และซองฟิล์มจากเปลือกทุเรียน เป็นต้น ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ คาดว่าจะประสบผลสำเร็จและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปสู่ผู้ประกอบการที่สนใจและสามารถนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
 
กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและนวัตกรรมการผลิตไบโอพลาสติก(Bio-plastic) เพื่อใช้ทดแทนพลาสติก ทั้งยังมีแผนวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้(Zero Waste Agriculture)ด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถและความเข้มแข็งในการผลิตสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน
 
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า อนาคตกระแสความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้มองเฉพาะอาหารพร้อมบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่จะมองถึงความสะดวกต่อการบริโภคด้วย   ดังนั้น บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการยุบตัว พับเก็บง่าย และย่อยสลายเร็วก็จะได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย น่าจะเป็นรูปแบบใหม่สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในอนาคตซึ่งสอดรับกับความตื่นตัวและความต้องการในเรื่อง Zero Waste ของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง