แฟชั่นทารุณสัตว์ตัดหู-หางสุนัข ‘คนเลี้ยง’เห่อตามกระแสนิยม
‘ฟาร์มสุนัข’ยอมรับทำเพื่อส่งเข้าประกวด อ้างมีผลต่อคะแนน‘ คอกเลี้ยง’เผยตัดแล้วราคาดีตรงตามสายพันธุ์ ด้าน‘สมาคมประกวด’ย้ำเข้าข่ายทารุณสัตว์ ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกผู้เลี้ยง
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ฝึกปฏิบัติ“หอข่าว” ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สังเกตเห็นข้อความหน้าร้านคลินิกรักษาสัตว์แห่งหนึ่งระบุว่า รับตัดหูตัดหางสุนัข ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปสอบถามสัตวแพทย์ประจำคลินิกพบว่ามีการรับตัดหูและหางสุนัขจริง ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นแฟชั่นตามกระแส แต่การตัดจะรับเฉพาะลูกสุนัขเท่านั้นเพราะว่าการตัดในลูกสุนัขจะได้รับความเจ็บปวดน้อยกว่าสุนัขโต เมื่อผู้สื่อข่าวได้ลองติดต่อไปยังคลินิกในต่างจังหวัดหลายแห่งกลับพบว่า มีการรับตัดหูและตัดหางสุนัขโต
‘ฟาร์มหมา’รับตัดหู-หางมีผลต่อการประกวด
นายชาติชาย วิเศษโส เจ้าของฟาร์มสุนัขสยามฟาร์ม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตัดหูและหางสุนัขว่า ฟาร์มของตนเป็นฟาร์มเลี้ยงสุนัขเพื่อจัดส่งประกวดมาหลายปี ส่วนใหญ่เลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ใหญ่โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน ซึ่งทางฟาร์มจะตัดหูและหางสุนัขให้ตรงกับสายพันธุ์ของแต่ละตัว การทำเช่นนี้เพื่อให้สุนัขมีความสวยงามสามารถส่งเข้าประกวดแล้วมีโอกาสชนะ อีกทั้งเพื่อเสริมความสง่างามของสุนัขที่เป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์
นายชาติชายกล่าวต่อว่า ฟาร์มของตนจะให้แพทย์ตัดหูและหางสุนัขเพราะการตัดเองบางทีอาจทำไม่ถูกวิธี อย่างการตัดหางหากตัดไม่ถูกวิธีจะทำให้หางสุนัขนั้นยาวเหมือนเดิม เพราะเมื่อตัดหางสุนัขแล้วต้องเอาแกนของหางออกมาด้วย ส่วนการตัดหูสุนัขมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า และต้องตัดตั้งแต่สุนัขยังเล็กๆ ตนเคยพาสุนัขที่อายุ 6เดือนไปตัดหูปรากฏว่าหูพับลงไม่ยอมตั้งขึ้น ทำให้ต้องดามหูตลอดเวลา ซึ่งในกรณีนี้เป็นเพราะว่าสุนัขมีอายุเกิน และการตัดหูจะต้องมีการวางยาสลบสุนัขบางตัวสลบไปแล้วไม่ฟื้นเลยก็มี
คอกสุนัขเผยยิ่งตัดยิ่งได้ราคา
ด้านนายอำนาจ นันนุ่ม เจ้าของคอกสุนัขครัวโต๊ะจีน เพาะสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ ย่าน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ให้ข้อมูลถึงกรณีฟาร์มตัดหางเพื่อเพิ่มราคาสุนัขว่า ราคาลูกสุนัขที่ตัดหางไว้แล้วมีราคาสูงกว่าลูกสุนัขที่ยังไม่ตัดหาง ทำให้เจ้าของคอกสุนัขหลายแห่งนิยมตัดหาง แต่ทั้งนี้ราคายังขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของสุนัขด้วย แต่คอกของตนไม่ตัดหาง เน้นเรื่องคุณภาพสุนัขไว้ก่อน หากลูกค้าต้องการตัดหางต้องมาดูสุนัขและสั่งจองภายใน 5วัน เพราะสุนัขจะตัดหางได้ไม่เกิน 5วันนับจากวันที่คลอด ถ้าเกิน 5 วันเจ้าของต้องเอาไปตัดเอง ส่วนมากลูกค้าจะซื้อสุนัขที่มีหางไปก่อน แต่ที่ฟาร์มอื่นนั้นตนไม่ทราบ
นายอำนาจกล่าวว่า สุนัขร็อตไวเลอร์ที่ตัดหางยังสามารถเข้าประกวดด้านความสวยงามได้ หากกรรมการตัดสินเป็นชาวยุโรป อย่างอังกฤษหรือเยอรมันจะตัดสิทธิ์สุนัขที่ตัดหูหรือหางเพื่อเข้าประกวดออกไป ทั้งนี้ถ้าไม่มีการตัดสิทธิ์มันขึ้นอยู่ที่เจ้าของสุนัขว่าจะเอาเข้าประกวดหรือไม่ เพราะกรรมการตัดสินไม่ได้มองเฉพาะเรื่องหางอย่างเดียว ยังมองถึงความพร้อมของสุนัขทั้งตัว เรื่องหางมีผลแค่ประมาณ 5% ด้านกรณีการตัดแต่งหูหากกรรมการมองเห็น อาจไม่ได้ว่าอะไรแต่มักตัดสินให้แพ้ทันที เพราะถือว่ามีการตัดที่ตำแหน่งหูของร็อตไวเลอร์จริงๆแล้วไม่ถูกต้อง
‘ผู้เลี้ยง’แย้งตัดได้แต่ไร้ประโยชน์
นายณัชพล สุพัฒนะ ประธานกลุ่มมิตรภาพพิทบูลเปิดเผยว่า โดยปกติไม่มีการประกวดสุนัขพันธุ์พิทบูลในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยขึ้นอยู่กับสมาพันธ์สุนัขโลกหรือเอฟซีไอ ดังนั้นจึงไม่มีสมาคมใดในประเทศจัดประกวดสุนัขพันธุ์นี้อย่างจริงจัง แต่มีการจัดประกวดกันเองภายใน การตัดหูหรือหางสุนัขไม่มีผลต่อคะแนนในการประกวด การตัดส่วนใหญ่เพื่อให้สุนัขมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ที่แท้จริง หรือให้มีลักษณะตามความต้องการของเจ้าของ
“ส่วนใหญ่ตัดเพื่อความสุขของคน พวกนี้เป็นแฟชั่นของคนไม่ใช่ของหมา ถ้าถามหมามันคงไม่อยากให้ตัดหรอก สมัยก่อนผมเคยตัดเหมือนกันแต่ตอนหลังไม่ตัด พอเลี้ยงไปก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องไปตัดหูมัน เสน่ห์ของสุนัขไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตาภายนอก มันอยู่ที่ความซื่อสัตย์ความภักดี การตัดเพียงแค่ทำให้สุนัขดูดีเท่านั้น เป็นความชอบส่วนบุคคลแต่สำหรับผมไม่คิดที่จะตัดหูหมาอีก” นายณัชพลกล่าว
‘สมาคมฯประกวดสุนัข’ย้ำเป็นการทารุณสัตว์
ด้านนางวนิดา บุษกรนันท์ นายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขประเทศไทยและประธานชมรมสุนัขพันธุ์เล็กแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศแถบยุโรปไม่มีสุนัขตัดหางเข้าร่วมประกวดแล้ว เนื่องจากเป็นการทรมานสัตว์และมีการออกกฎในสนามแข่งว่าห้ามไม่ให้สุนัขที่เข้าประกวดตัดหาง มีการรณรงค์ในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ ในด้านของประเทศไทยยังมีการดำเนินการเช่นนี้อยู่ ทางกองประกวดมีสิทธิ์แค่ตัดสินในสนาม ด้านสมาคมเวลาจัดการประกวดจะบอกผู้เข้าประกวดว่า สุนัขที่ไม่ตัดหางเข้าประกวดได้ ไม่โดนหักคะแนน แต่ถ้าสุนัขที่เข้าประกวดยังตัดมาอีก ตรงนั้นทางผู้จัดประกวดมีสิทธิ์ไม่ตัดสินให้ได้
นายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขประเทศไทยกล่าวถึงการรณรงค์อย่างจริงจังเรื่องของการตัดหางในประเทศไทยว่า เป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้เลี้ยง หากไปออกกฎหมายบังคับห้ามตัดหางสุนัข แต่การดูแลยังไม่ทั่วถึง ก็เหมือนตำรวจจับผู้ร้ายไม่หมดสิ่งที่ทางสมาคมพอทำได้ก็คือ การรณรงค์ในสนามแข่งมากกว่า ให้ภาพที่ออกไปเป็นภาพที่สุนัขมีการตัดหางน้อยที่สุด
สัตวแพทย์แจงตัดหู-หางไม่ผิดจรรยาบรรณ
นางสาวพิลินพร กันร้าย สัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์จันทร์หุ่นให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการตัดหางสุนัขว่า แพทย์รับตัดหางสุนัขที่ไม่ใช่การรักษา ไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณแพทย์ แต่ต้องตัดให้ถูกต้องตามหลักวิธีการ ปกติตัดในสุนัขอายุไม่เกิน 1 อาทิตย์ และต้องทำให้สุนัขเจ็บปวดน้อยที่สุด ส่วนความเชื่อที่ว่า ตัดหางลูกสุนัขไม่เจ็บนั้นไม่จริง เพราะการตัดหางทำให้สุนัขได้รับความเจ็บปวด เพราะตอนสุนัขยังเล็กเส้นเลือดจะมีขนาดเล็กทำให้เลือดออกน้อย กล้ามเนื้อและกระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เกิดความเสียหายไม่มาก บาดเจ็บน้อยกว่า
สัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์จันทร์หุ่นกล่าวอีกว่า การตัดหางในบางกรณีก็มีประโยชน์อย่างการตัดเพื่อรักษาโรคในกรณีที่สุนัขเป็นมะเร็ง เป็นแผลเน่าเรื้อรังรักษาไม่หาย หรือได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงจนรักษาอวัยวะไว้ไม่ได้ แต่หากเจ้าของพาลูกสุนัขที่แข็งแรงดีมาตัด ถือว่าเป็นการตัดตามแฟชั่น ตัดตามลักษณะนิยมของสายพันธุ์นั้น ซึ่งปัจจุบันพบเห็นกันมาก พันธุ์ที่นิยมตัดหาง ได้แก่ พุดเดิ้ล แจ็ครัสเซลล์เทอร์เรีย ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย ร็อตไวเลอร์บ๊อกเซอร์
ด้านนายธนบดี รอดสม ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบและรับรองคุณภาพอาหารสัตว์อุตสาหกรรมและสัตวแพทย์ประจำคลินิกตัดแต่งหูสุนัขกล่าวถึงสาเหตุในการตัดหูสุนัขว่า มี 2กรณี ในกรณีแรก ตัดตามลักษณะของสายพันธุ์เพื่อให้สวยงามสามารถเข้าประกวดได้ อีกกรณีคือ สุนัขสายพันธุ์ที่มีหูค่อนข้างใหญ่ แรงเยอะ เวลาสะบัดหูแล้วหูกระแทกกับกระโหลกสุนัขเอง ทำให้เป็นห้อเลือด พอเป็นแล้วต้องผ่าออกทำให้หูเสียรูปหงิกเหมือนใบหูพิการไป
“การตัดหูไม่เป็นเพียงแค่แฟชั่นอย่างเดียว มันเริ่มมาจากการป้องกันมากกว่า แต่ตอนหลังก็กลายมาเป็นแฟชั่น เหมือนคนติดภาพว่าสายพันธุ์นี้ต้องมีลักษณะแบบนี้ ซึ่งการตัดหูนิยมตัดตอนอายุไม่เกิน 2 เดือน” นายธนบดีกล่าว
สัตวแพทย์ประจำคลินิกตัดแต่งหูสุนัขยังได้แนะขั้นตอนตามหลักการแพทย์ว่า ก่อนพาสุนัขมาตัด เจ้าของต้องเตรียมสุนัขมาโดยต้องอดอาหารก่อน 10 ชั่วโมง เพื่อชั่งน้ำหนักและเตรียมวางยาสลบให้ตรงตามปริมาณน้ำหนักตัว จากนั้นวาดรูปหูลงบนใบหู เริ่มตัดทั้ง 2 ข้างและเย็บแผล ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของการดามหูให้ตั้ง โดยส่วนมากจะใช้ไม้กับพลาสเตอร์พันดามหู และให้ยาไปกิน ฉีดยาแก้อักเสบ ยาลดบวม ยาแก้ปวด 1สัปดาห์ ระหว่างนั้นเจ้าของจะต้องดูแลทายา เบทาดีน ทิงเจอร์ เมื่อครบ 1สัปดาห์ ก็มาตัดไหมออก ไม่เช่นนั้นจะทำให้สุนัขเกาแผลและทำให้หายช้า
นายธนบดีกล่าวเพิ่มถึงราคาในการตัดหูว่า การคิดราคาจะแล้วแต่คลินิก ซึ่งคลินิกตนคิดราคาตามน้ำหนักตัว สายพันธุ์ แพงสุดก็สายพันธุ์เกรทเดน ราคาขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3,000บาท เพราะคิดราคาตามน้ำหนักตัวก็จริง แต่สุนัขโตตนจะไม่รับตัด
‘นพ.ปศุสัตว์’ยันกม.ยังอยู่ในสภา
นายแพทย์กรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานพยาบาลสัตว์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครกล่าวว่า ในต่างประเทศ การตัดหูหรือหางสุนัข ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ บางประเทศยังไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้ อย่างประเทศอังกฤษมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ในส่วนนี้แล้ว ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะตอนนี้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ยังไม่ผ่านรัฐสภา แต่ได้มีการเริ่มร่างตัวกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาแล้วบางส่วน ซึ่งคำชี้แจงในร่างกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการห้ามไม่ให้มีการทำร้ายสัตว์ และผู้ที่เลี้ยงสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะกับสัตว์แต่ละชนิด ส่วนเรื่องการห้ามไม่ให้สุนัขที่ตัดหูและหางเข้าประกวดนั้นยังไม่ชัดเจนในแนวทาง เพราะตัวกฎหมายเน้นเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ในด้านอื่นมากกว่าเช่น วิธีการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาบริโภคส่วนเรื่องของการตัดหูหรือหางนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า
‘สมาคมพิทักษ์สัตว์’เร่งออกกม.คุ้มครองสุนัข
นายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า หลักสวัสดิภาพสัตว์ถือว่าการกระทำใดๆ ต่อสัตว์ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นการทารุณสัตว์ รวมถึงการทำให้สัตว์เสียรูปร่างโดยไม่จำเป็น ในประเทศที่มีพัฒนาการด้านหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์และการกระทำที่เป็นเหตุให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ฮังการี ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้การตัดทอนอวัยวะสัตว์โดยไม่จำเป็นถือเป็นการทารุณสัตว์ โดยเฉพาะการตัดหางสุนัข แต่ทว่ากฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการห้ามตัดอวัยวะสัตว์จะผ่านก็เป็นที่ถกเถียงกันในสภาอย่างดุเดือด ระหว่างฝ่ายสวัสดิภาพสัตว์และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
นายโรเจอร์กล่าวอีกว่า สุนัขก็ต้องปรับตัวเพื่อสื่อสารกับพวกที่สมประกอบ แต่สำหรับสุนัขอาจไม่ง่ายนัก จะสังเกตได้ว่าสุนัขหางกุดมักใช้เสียงเพื่อทดแทนหางในการสื่อสาร หากธรรมชาติเห็นว่าหางสุนัขไม่จำเป็นก็คงวิวัฒนาการให้ค่อยๆ หายไปเอง มนุษย์ชอบตัดสินว่าส่วนใดของสัตว์ที่เราไม่ต้องการก็ตัดออก ล้วนแต่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทั้งสิ้น จริงอยู่ที่มีสุนัขบางสายพันธ์เกิดมาหางสั้นหรือกุด แต่ก็ถือเป็นการผ่าเหล่าทางพันธุกรรมที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เช่นกัน คือมีการศึกษายีนส์ที่ผิดปกตินี้เพื่อพัฒนาให้คงที่เพื่อเพาะพันธุ์สุนัขหางกุดออกมาขาย