สีสันหลากหลายที่แต่งแต้มลงบนพื้นผิวขรุขระ คล้ายภาพวาดที่สร้างสรรค์จากปลายพู่กันของศิลปิน แต่ที่จริง นี่เป็นภาพถ่ายที่ใช้เทคนิคการปะติดปะต่อแบบ “Photomontage” ที่ศิลปินชาวฮ่องกง “วิง ชาน” ใช้ประสบการณ์ในการออกแบบกว่า 20 ปี ถ่ายทอดสิ่งที่ถูกมองข้ามในชีวิตประจำวัน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในแง่มุมใหม่ที่งดงามกว่าเดิม นำมาจัดแสดงครั้งแรกที่ประเทศไทย ในนิทรรศการภาพถ่ายนามธรรม “Prosaic vs Profound”
กล่องโฟมย่อยสลายไม่ได้จำนวนมากที่ถูกทิ้งในตลาด และกองกระดาษที่ใช้ในแต่ละวันของบริษัทในเขตเมืองของฮ่องกง ที่ปรากฏในงานของ “วิง ชาน” ไม่เพียงเสียดสีคนเมืองที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง หากยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และธรรมชาติที่ถดถอยลงทุกวัน
วิง ชาน ศิลปินภาพถ่าย กล่าวว่า ผู้คนยุคปัจจุบันมักใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ หลงอยู่กับวัตถุนิยม จนละเลยธรรมชาติ และความงามที่อยู่รอบตัวไป เขาจึงอยากสร้างงานที่ทำให้คนหันมาใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และพอใจในสิ่งที่มีอยู่
เบื้องหลังภาพ “Metamorphosis no.13” เกิดจากการใช้เวลาว่างเพียง 3 ชั่วโมง ระหว่างรอเพื่อนที่สนามบิน ในการสร้างสรรค์รูบนเก้าอี้ให้ออกมาเป็นงานศิลป์ เป็นอีกภาพที่แสดงถึงสายตาเฉียบคมในการมองสิ่งของธรรมดาในชีวิตประจำวันให้ไม่ธรรมดา นอกจากนั้น นี่ยังเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำเทคนิคการพิมพ์ภาพแบบ “Acrylic Face Mount“ มาใช้ ช่วยเสริมภาพถ่าย 2 มิติ ให้มีความลึก และมันวาวคล้ายภาพวาด
ริชาร์ด หลอ ที่ปรึกษาด้านศิลปะ กล่าวว่า งานของวิง ชาน เป็นศิลปะแนวใหม่ ที่ผสมผสานการถ่ายภาพ เทคนิคการตัดปะ และการเคลือบเงาภาพที่แปลกใหม่ จนทำให้ผลงานของเขาดูคล้ายภาพวาดสีน้ำมัน
ปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้เข้าชมนิทรรศการ กล่าวว่า รู้สึกแปลกตา ไม่เหมือนภาพถ่ายทั่วไป เพราะเอาสิ่งใกล้ตัวมานำเสนอ
ร่วมค้นหาความงามในสิ่งที่เคยมองข้าม ในนิทรรศการภาพถ่าย “Prosaic vs Profound” ถึงวันที่ 7 มีนาคม ที่ละลานตา ไฟน์อาร์ต สุขุมวิท 31