ปิดฉากการ์ตูน 2 มติ วาดด้วยมือของ
แม้การผจญภัยของหมีพูห์และผองเพื่อนใน Winnie the Pooh ผลงานเรื่องที่ 51 ของ Walt Disney ที่ออกฉายเมื่อปี 2011จะได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ถ้วนหน้า แต่รายได้รอบโลกได้เพียง 33 ล้านดอลลาร์จากทุนสร้าง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นอีกครั้งที่ค่ายการ์ตูนยักษ์ใหญ่ล้มเหลวกับผลงานแอนิเมชั่นจากฝีมือคนวาด นำไปสู่การงดแผนผลิตการ์ตูนสองมิติในอนาคตอันใกล้นี้
การ์ตูนจากฝีมือคนวาด เคยเป็นเสน่ห์สร้างชื่อให้กับดิสนีย์ในฐานะผู้นำวงการแอนิเมชั่นของโลก ทั้งผลงานคลากสิก เช่น มิ๊กกี้ เม้าส์ จนถึงการดัดแปลงการ์ตูนจากเทพนิยายโด่งดังมากมาย โดยเฉพาะในยุค Disney Renaissance ในยุค 90 ที่การผสานศิลปะการ์ตูนวาดด้วยมือและดนตรีประกอบอันไพเราะ ทำให้ผลงาน 10 เรื่องในช่วงนี้ได้รับทั้งคำยกย่องและทำรายได้รวมกันเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์
จุดเปลี่ยนของการ์ตูนวาดด้วยมือมาถึงในปี 1995 เมื่อดิสนีย์เปิดตัว Toy Story ผลงานของสตูดิโอ Pixar ซึ่งเป็นการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ ความสำเร็จของการ์ตูนเรื่องนี้ปลุกกระแสให้แต่ละค่ายหนังก่อตั้งสตูดิโอเพื่อสร้างการ์ตูน CGI ออกมามากมาย จนการ์ตูนที่เกิดจากการวาดเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ
ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่ดิสนีย์ซื้อกิจกาารของ Pixar โดยให้ จอห์น ลาสเซตเตอร์ บอสใหญ่ของ Pixar มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ลาสเซตเตอร์เคยแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้การ์ตูนวาดด้วยมือของดิสนีย์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ผลงานที่ผลิตออกมาทั้ง The Princess and the Frog และ Winnie the Pooh ต่างล้มเหลวด้านรายได้ สวนทางกับการ์ตูน CGI ของค่ายที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำทุกเรื่อง
แม้อนาคตของการ์ตูนวาดด้วยมือของดิสนีย์จะไม่สดใสเหมือนอดีต แต่การ์ตูนจากลายเส้นของนักวาด ยังมีช่องทางนำเสนอผ่านทางสื่อโทรทัศน์และการ์ตูนขนาดสั้น โดยแหล่งข่าววงในเผยว่าดิสนีย์กำลังมีผลงานการ์ตูนใหม่ที่ย้อนรอยความสำเร็จของ Paperman ผลงานที่คว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้น จากการผสานเทคนิคลายเส้นกับการออกแบบกราฟฟิค CGI อันตื่นตา ซึ่งผลงานเรื่องใหม่นี้จะยังคงให้ศิลปินออกแบบภาพด้วยมือวาด แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์เหมือนการ์ตูน CGI ทั่วไป