การเสนอภาพกองทัพจักรวรรดิเปอร์เชียให้เต็มไปด้วยปีศาจและสัตว์ประหลาด ตลอดจนบรรยายภาพจักรพรรดิเซอร์ซีสมหาราช ในกิริยาท่าทางอ้อนแอ้นคล้ายสตรีใน 300 ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ปี 2007 จนรัฐบาลอิหร่านประท้วงต่อสหประชาชาติ และ UNESCO ร้องเรียนฐานที่ถูกดูแคลน ทั้งยังส่งตัวแทนของสถานทูตไปประท้วงการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งในฝรั่งเศส, ตุรกี, อุซเบกิสถาน และในเมืองไทย นับเป็น1 ในความพยายามของทางการอิหร่านเพื่อปกป้องวัฒนธรรมชาติจากการป้ายสีโดยสื่อบันเทิงของฮอลลีวูด ล่าสุดอิหร่านเตรียมยื่นฟ้องเอาผิดวงการบันเทิงสหรัฐฯหลังถูกนำเสนอภาพลบมานานหลายปี
การเตรียมฟ้องเอาผิดฮอลลีวูดครั้งนี้มาจากชัยชนะบนเวทีออสการ์ของ Argo ภาพยนตร์ที่เล่าถึงการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ที่ถูกวิจารณ์ทั้งจากอิหร่านและชาวอเมริกันที่เคยถูกจับเป็นตัวประกันว่า มีการบิดเบือนเหตุการณ์ให้รุนแรงเกินจริง และเหมารวมชาวอิหร่านทั่วไปว่าเป็นภัยไม่ต่างจากกลุ่มปฎิวัติ โดยทางการอิหร่านได้แต่งตั้ง อิซาเบล คูตอง แปร์ ทนายชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงในการว่าความให้กับผู้ก่อการร้ายระดับนานาชาติ ให้เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการเอาผิดกับผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างที่ใช้ภาพยนตร์เผยแพร่ความคิดด้านลบเกี่ยวกับอิหร่าน
นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกหลายเรื่องที่เข้าข่ายดูหมิ่นอิหร่าน เช่น The Wrestler หนังปี 2008 ที่มีนักมวยปล้ำฝ่ายร้าย ชื่อ ดิ อะยาโตลลา ซึ่งแต่งกายด้วยชุดที่ตัดด้วยธงชาติอิหร่าน รวมถึงฉากที่พระเอกของเรื่องหักธงชาติอิหร่านด้วยหัวเขา หรือ Not Without My Daughter หนังชีวิตปี 1991 ที่เล่าถึงสตรีอเมริกันที่ถูกสามีชาวอิหร่านบังคับไม่ให้กลับบ้านในสหรัฐฯ โดยถูกวิจารณ์ทั้งจากฝั่งอิหร่าน และสหรัฐฯ ว่าเสนอภาพชาวอิหร่านและผู้นับถือศาสนาอิสลามในแง่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม
"โอมิด เมมาเรียน" ผู้สื่อข่าวในนิวยอร์กที่เชี่ยวชาญวงการภาพยนตร์อิหร่าน กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ชาติซึ่งควบคุมสื่อในประเทศอย่างเข้มงวดเช่นอิหร่านจะเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯอยู่เบื้องหลังเนื้อหาในหนังฮอลลีวูด และยิ่งการมอบรางวัลออสการ์ปีนี้ มีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบาม่า ร่วมงานในฐานะผู้ประกาศรางวัล ก็ยิ่งเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมหนังที่ทำให้ภาพลักษณ์ของอิหร่านเป็นวายร้ายในสายตาของชาวโลก