เปิดโปงซื้อขายกระสุนปืนเถื่อนในสมาคมยิงปืนฯ
นายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ อดีตนายกสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดโปงเบื้องหลังการซื้อขายกระสุนปืนเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตหลายครั้งของคณะทำงานสมาคมยิงปืนและการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยเปิดเผยพยานเอกสารส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติในการสั่งซื้อกระสุนปืนจาก กกท. ผ่านคณะทำงานสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทยในยุค นพ.เอาชัย กาญจนพิทักษ์ ซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ก่อนการแข่งขันซีเกมส์ที่เมียนมาร์ในปี 2556
นอกจากนั้นยังเผยว่าหลังซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซียยังมีการใช้หัวสมาคมเป็นใบเบิกทางสั่งซื้อกระสุนปืนมากเกินความจำเป็นอย่างน้อย 3-10 เท่าตัว จำนวนถึง 7 ล้านนัด ปัญหาการซื้อขายกระสุนได้ถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มนักกีฬา ซึ่งเป็นผู้ชักนำกลุ่มนายทุนเข้ามาลงขัน โดยต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์จากการซื้อขายที่ไม่โปร่งใส
ข้อความที่ส่งต่อกันในไลน์กลุ่มของนักกีฬาตอกย้ำความเชื่อมโยงจากนายทุนภายนอกสมาคม นักกีฬาคนหนึ่งอ้างว่า "ท่านผู้ใจบุญบอกมาว่า ยินดี เงิน 2 ล้านไม่มีปัญหา ขอให้นักกีฬาเสนอชื่อท่านกับ กกท. เดี๋ยวจัดให้ทุกอย่าง "
ที่ผ่านมา กกท.สั่งซื้อกระสุนปืนจากสมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืน จ.อุบลราชธานี ผ่านคณะทำงานบริหารสมาคมยิงปืนวันที่ 6 ธันวาคม 2 รายการจำนวน 94,500 นัด โดยสั่งซื้อกระสุนขนาด .22 จำนวน 74,400 นัดเป็นเงิน 1,190,400 และกระสุนขนาด .177 จำนวน 20,100 นัด เป็นเงิน 14,874 บาท รวมเป็นเงินกว่า 1,200,000 บาท โดยมีการส่งมอบกระสุนปืนในวันที่ 7 ธันวาคม ก่อนการเดินทางไปซีเกมส์เมียนมาร์เพียงวันเดียว เป็นข้อสังเกตว่ามีการสั่งซื้อจำนวนที่มากเกินแผนการฝึกซ้อมของนักกีฬา และก่อนหน้านั้นมีหลักฐานว่านักกีฬาทั้งหมด 20 คนได้เบิกกระสุนไปฝึกซ้อมครบตามจำนวนแล้ว
การซื้อขายทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมายังไม่ปรากฎหลักฐานใบอนุญาต ป.3 จากนายทะเบียนท้องที่ของกรมการปกครอง จึงถือว่าเป็นการซื้อขายกระสุนปืนเถื่อน ขณะที่ ร.ต.อ.วราวุธ มัจฉาชีพ ที่รับมอบอำนาจจากสมาคมส่งเสริมกีฬาจ.อุบลราชธานี ให้เป็นตัวแทนในการขายมีความสัมพันธ์เป็นพี่ชายของเทวฤทธิ์ มัจฉาชีพ นักกีฬายิงปืน
ล่าสุด มีการเสนอขอซื้อกระสุนด้วยวิธีการพิเศษอีกจำนวน 2,400,000 นัด จากกลุ่มเดิม ซึ่ง พล.ท.ภัทรวรรณ คงพันธุ์ ผู้จัดการทีมชุดซีเกมส์ ยับยั้งไว้ได้ทัน ขณะที่นายวิเชียร ไพจิตรกาญจนกุล ในฐานะผู้ปกครองนักกีฬาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นวิธีเพื่อให้ได้กระสุนเถื่อนเหมือนเดิม
กระบวนการซื้อขายที่ไม่โปร่งใสในครั้งนี้สะท้อนภาพกว้างในตลาดซื้อขายจากนายทุนรายใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งในกรณีนี้สมาคมส่งเสริมกีฬา จ.อุบลราชธานี หรือสมาคมกีฬายิงปืนในจังหวัดอื่นๆ เป็นเพียงนายหน้าปล่อยสินค้าอีกต่อหนึ่งเท่านั้น โดยนายทุนรายใหญ่ของประเทศที่มีกระสุนในตลาดมืดหรือกระสุนเถื่อนกระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา เชียงใหม่ รวมถึงนครสวรรค์ ที่เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วน และกระสุนปืนที่สำคัญของประเทศ นายทุนเหล่านี้สามารถสั่งซื้อกระสุนปืนจากต่างประเทศได้จำนวนนับล้านนัดภายใต้สมาคมยิงปืนของแต่ละจังหวัด
กระสุนปืนส่วนที่เกินจากความจำเป็น พ่อค้ารายย่อย รวมทั้งนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ปกครอง แม้กระทั่งผู้บริหารสมาคมจะนำไปขายต่อให้กับบรรดานักกีฬาด้วยกันเองในราคาที่มีผลกำไร รวมถึงกระจายต่อไปยังสนามกีฬายิงปืนต่างๆ และร้านค้ากระสุนปืนทั่วไป ยิ่งมีการสั่งซื้อมากยิ่งทำให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้น เพราะมีทั้งค่านายหน้าขั้นต่ำร้อยละ 12 หรืออาจได้การตอบแทนเป็นจำนวนกระสุนที่มากขึ้น โดยการซื้อขายเพื่อให้ได้จำนวนมากต้องใช้วิธีหลีกเลี่ยงการขอใบอนุญาต เนื่องจากต้องแจ้งจำนวนปืน ประเภทอาวุธปืน รวมถึงกิจกรรมที่ต้องสอดคล้องกับจำนวนกระสุน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายในสมาคมจากการซื้อขายกระสุนปืนเกินจำนวนจึงต้นเหตุสำคัญของปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบ 10 ปีของสมาคมยิงปืน