โฆษณากว่า 20 ชิ้นตลอดปีที่ผ่านมา บอกถึงความนิยมในตัว ณเดช คุกิมิยะ รวมถึงราคาค่าตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเกือบชิ้นละ 10 เท่าตัวในปีที่แล้ว บริษัทโฆษณาเชื่อว่ากระแสของดาราหนุ่มจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้ามากขึ้น หากการรับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์มากมาย ก็ส่งผลไม่น้อยต่อภาพจำของนักแสดงกับสินค้านั้น รวมถึงช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้ดาราดัง
"สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนัก ณ วันนี้ ถ้าเป็นอดีตเราจะเชื่อว่าการที่เป็นดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือที่เรียกว่าเซเล็บ เขาก็จะมีอีกอย่างที่ต้องระวัง บางครั้งดาราหรือเซเล็บอาจไม่ใช่เป้าหมายในเชิงการตลาด เพราะวันนี้หลายครั้ง เวลาคนจะใช้สินค้าอะไรก็แล้วแต่ เขาก็อาจจะใช้เพราะเพื่อน เดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดียในสังคมก็อาจจะใช้เพื่อน ดาราอาจจะไม่ค่อยมีบทบาท เพราะคนยุคนี้รู้ทันมากขึ้นว่าดาราอาจไม่ได้ใช้สินค้าจริงๆ" ผศ. เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารตรา ม.กรุงเทพ
ยิ่งโด่งดังมากจะหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง การตัดสินใจเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าแต่ละชิ้น นักแสดงจึงไม่เพียงต้องศึกษาความเหมาะสมของบุคลลิกตัวเองกับผลิตภัณฑ์ หากสัญญาในการโฆษณายังต้องกำหนดระยะเวลาและรูปแบบรายละเอียดของงานอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและกลายเป็นปัญหาระหว่างตัวสินค้ากับพรีเซ็นเตอร์
"เคยมีที่ขอให้ทำเพิ่มนอกจากสัญญา ต้องคุยกันให้ชัดเจน ตกลงให้แน่ชัดว่ายังไง อย่างไร ถ้าขอเพิ่มก็ต้องจ่ายตังเพิ่ม" วิริฒิพา ภักดีประสงค์ แย้มนาม นักแสดง/พิธีกร
แม้ช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคจะหลากหลายมากขึ้น ทำให้การโฆษณาสินค้าไม่ต้องพึ่งอยู่เพียงพรีเซ็นเตอร์คนดัง แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่านักแสดงก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสีสันและทำให้สินค้าถูกพูดถึงอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่กระแสจากการแสดงหรือเป็นข่าว คืออีกช่องทางช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า ขณะเดียวกันงานโฆษณาก็ช่วยให้ภาพดาราคุ้นตาผู้ชม ไม่บ่อยนักที่นักแสดงจะมีปัญหากับสินค้า และมักจบลงโดยรวดเร็ว