ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พีระพงษ์" กสทช. แถลงกรณีชะลอการออกอากาศ รายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย

สังคม
20 มี.ค. 56
11:03
75
Logo Thai PBS
"พีระพงษ์" กสทช. แถลงกรณีชะลอการออกอากาศ รายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย

พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ แถลงในกรณี สถานีโทรทัศน์องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ชะลอการออกอากาศรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย ณ ห้องสื่อมวลชน ชั้น2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม

 จากกรณีที่รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้ออกอากาศทางช่อง ไทยพีบีเอส อย่างต่อเนื่อง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้สถานีตัดสินใจชะลอการออกอากาศเทปสุดท้ายจากวันที่ 15 มีนาคม มาออกอากาศวันที่ 18 มีนาคม

 
พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามมติของที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้สอบสวนในเรื่องดังกล่าว จึงได้เชิญผู้อำนวยการของไทยพีบีเอสมาให้ข้อมูล ในเรื่องของกระบวนการ และผลจากการรับฟังข้อมูลปรากฏว่า เป็นการตัดสินใจชะลอการออกอากาศตอนที่ 5 บนพื้นฐานของการดูแล รับผิดชอบและการรักษาความปลอดภัยของสถานีและผู้ปฏิบัติงานในสถานี เนื่องจากในวันที่ 15 มีนาคม มีประชาชนที่ไม่พอใจไปที่สถานีจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเจรจาก็ไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ตัดสินใจให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชนที่ไม่พอใจ เกรงว่าจะเกิดความรุนแรง ดังนั้นการตัดสินใจ จึงชอบด้วยเหตุผลในสถานการณ์ตอนนั้น ส่วนการนำกลับมาออกอากาศก็เป็นกระบวนการของทางสถานีอีกเช่นกัน ว่าเห็นชอบให้นำมาออกอากาศ เมื่อสถานการณ์ปลอดภัยแล้วในวันที่ 18 มีนาคม
 
ส่วนเรื่องเนื้อหา เนื่องจากยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ จึงได้เริ่มกระบวนการพิจารณาสอบสวนในด้านเนื้อหา และได้ขอเทปทุกตอนจากผู้อำนวยการสถานีมาพิจารณาแล้ว
 
พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวอีกว่า1. เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการประกัน อย่างไรก็ตามเสรีภาพต้องมีขอบเขต เช่น การทำรายการต้องดูว่าขัดต่อกฎหมายอื่นใดหรือไม่  2. จริยธรรมของคนทำสื่อต้องมีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และ 3. สื่อต้องมีความรับผิดต่อสังคม ยกตัวอย่าง การทำรายการสักรายการหนึ่ง ต้องนึกถึงผลกระทบต่อสังคม และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ประเด็นว่าถ้าทำรายการนั้นแล้ว สังคมจะเกิดความแตกแยก อันนำไปสู่ความรุนแรง จะต้องพิจารณาว่า เส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ตรงไหน
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง