นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเวทีอภิปรายแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง เห็นว่า การนิรโทษกรรม ต้องเป็นคำตอบสุดท้ายหลังการขยายผลรายงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยผู้ที่มีความผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการเยียวยา เพราะต้องให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง ให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม เห็นว่า การดำเนินการนิรโทษกรรม ควรให้ความสำคัญกับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การออกกฏหมาย ต้องอาศัยช่วงจังหวะ เวลา และโอกาส โดยเฉพาะการข้ามเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และเห็นว่าห้วงเวลาขณะนี้มีความเหมาะสมแล้ว
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ย้ำจุดยืนว่า บุคคลที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมคือ ประชาชนที่ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง ยกเว้นบุคคล 4 กลุ่มที่ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม คือผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร แกนนำกลุ่ม นปช. และส.ส.พรรคเพื่อไทย
นายกิติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอความเห็นส่วนตัวถึงแนวทางการนิรโทษกรรม โดยอ้างอิงจากประเทศแอฟริกาใต้ ที่ควรใช้แนวทางการนิรโทษกรรม แบบจำกัดวงเฉพาะคนที่ร้องขอเท่านั้น โดยให้ยื่นเรื่องผ่านคณะกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วยรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาการนิรโทษกรรม และผู้ร้องขอการนิรโทษกรรม ต้องแสดงความสำนึกผิด แสดงเจตนารมย์ หรือให้การรับรองว่าจะไม่ทำความผิดซ้ำอีก