อนุกก.คุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคม เสนอ กสทช.กำกับบริษัทมือถือ ออกเบสิคแพ็คเกจ
แฉหลังพบโปรโมชั่นมือถือมั่ว โปรหลักโปรเสริม แถมใช้เลห์บีบผู้บริโภคจ่ายแพงกว่าเดิม 2 เท่า ด้วยแพ็คเกจเหมาจ่ายราคาสูงขึ้นแต่ไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที อนุกรรมการฯชี้ทางออกต้องมี เบสิคแพ็คเกจ คิดค่าโทรตรงไปตรงมา ตามประกาศอัตราขั้นสูงฯ
นายไพบูลย์ ช่วงทอง อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงเพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555ซึ่งบังคับใช้เฉพาะบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด 5 รายคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็ดเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น พบว่า ผู้บริโภคยังประสบปัญหาในการใช้บริการดังต่อไปนี้คือ
1) ผู้บริโภคถูกบริษัทเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนโปรโมชั่น เนื่องจากบริษัทมิได้ปรับลดค่าบริการตามรายการส่งเสริมการขายต่างๆให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงฯ พ.ศ. 2555 ให้อย่างอัตโนมัติ ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการเสียค่าบริการในอัตราไม่เกิน 99 สตางค์ ต่อนาที ต้องเลือกรายการส่งเสริมการขายที่บริษัทจัดไว้ให้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย
2) บริษัทฯ ยังคงเรียกเก็บค่าบริการเกิน 99 สตางค์ เช่น คิดค่าโทรนอกเครือข่ายและนอกเวลาส่งเสริมการขาย 1.29 บาทต่อนาที โดยอ้างว่าเป็นการเรียกเก็บตามรายการส่งเสริมการขายเดิมจนกว่าระยะเวลาส่งเสริมการขายเดิมจะสิ้นสุด
3) บริษัทฯมีการกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการขายที่มีอัตราค่าบริการสูงขึ้น โดยไม่มีทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น กำหนดให้ต้องใช้ รายการ คุยสะใจ ค่าบริการขั้นต่ำรายเดือน ๓๕๐ บาท โทรทุกเครือข่าย ๓๖๐ นาที จากเดิมที่ผู้ร้องอาจใช้บริการเพียง ประมาณ 200 บาทต่อเดือน
4) บริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการขาย เช่น รายการโทรสะใจ อัตราค่าโทรคิดแบบเหมาจ่ายคือ 2.75 บาท โทรได้ 3 นาที เฉลี่ยนาทีละ 92 สตางค์ โทรเกิน 3 นาทีคิดนาทีละ 50 สตางค์ ทุกเครือข่ายตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งหากผู้ใช้บริการโทรเพียง 1 นาทีก็ต้องจ่ายค่าบริการในราคาเหมาจ่ายคือ 2.75 บาท
“ถึงขณะนี้เกือบครบ 90 วันของการบังคับใช้ประกาศอัตราขั้นสูงแล้ว บริษัทยังไม่มีการดำเนินการปรับลดอัตราค่าบริการเสียงให้กับผู้บริโภคแบบอัตโนมัติ แต่อ้างรายการส่งเสริมการขายเดิม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กสทช. ทั้งยังเอาเปรียบโดยหากผู้ใช้บริการต้องการใช้รายการส่งเสริมการขายที่เป็นไปตามกฎหมายจะต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนโปรโมชั่นเองทั้งที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้บริษัทยังได้ออกรายการส่งเสริมการขายใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นไปตามกฎหมายแต่รายการส่งเสริมการขายดังกล่าวก็มีราคาสูงและเกินกว่าความจำเป็นของผู้บริโภคในการใช้บริการ เช่น กรณีที่ผู้ร้องใช้โทรศัพท์โทรไม่ถึง 200 นาที แต่ถูกบังคับด้วยโปรโมชั่น เหมาจ่าย 350 บาท โดยได้ 360 นาที เท่ากับต้องจ่ายนาทีละ 1.75 บาท แม้บริษัทจะไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นจากเทคนิคของบริษัท “นายไพบูลย์กล่าว
อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณานอกจาก สำนักงาน กสทช. ควรต้องเร่งดำเนินการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ให้เป็นจริงแล้ว ควรมีการกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการแบบ Basic package หรือการมีโปรหลัก โดยให้ผู้บริโภคได้เลือกจากพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการใช้งานของตน ไม่มีสิทธิพิเศษเพิ่ม แต่ค่าบริการเรียกเก็บตามประกาศอัตราขั้นสูงฯ หรือเรียกเก็บตามที่ได้มีการใช้บริการจริง ขณะที่โปรโมชั่น หรือรายการส่งเสริมการขายคือสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถเลือกเพื่อไปเสริมการใช้งานทั่วไปของตน และส่วนใหญ่จะมีการกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิไม่นาน เช่น 30 วัน หรือ 12 รอบบิล ขณะที่โปรหลักจะไม่มีการกำหนดระยะเวลา
“กสทช. ควรกำหนดนิยามของคำว่า รายการส่งเสริมการขาย และกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าบริการให้ชัดเจน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอัตราค่าบริการ ไม่ควรนำเรื่อง Basic package มาปนกันมั่วกับส่งเสริมการขายแบบเหมาจ่าย เพราะจะทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ กสทช. จึงต้องเข้าไปกำกับให้มีโปรหลัก และให้มีอัตราค่าบริการของ โปรหลักต่างๆไม่เกิน ๙๙ สตางค์ต่อนาที ส่วนรายการส่งเสริมการขายแบบเหมาจ่าย ก็ต้องหมายถึงโปรเสริมซึ่งผู้บริโภคมีโอกาสเลือกได้ว่าจะจ่ายเพิ่มหรือไม่ ถ้าผู้บริโภคเลือกไม่จ่ายเพิ่ม ค่าบริการทุกนาทีของเขาก็จะต้องไม่เกิน ๙๙ สตางค์โดยผลของกฎหมาย” นายไพบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.2556 มีเรื่องร้องเรียนกรณีเรื่องอัตราขั้นสูงค่าบริการเสียงจำนวน 300 กว่าเรื่อง