ระดมนักวิชาการทั่วประเทศดูแล
คณะกรรมการนัดถกครั้งแรกเพื่อเตรียมบูรณาการมะเร็งมาตรฐานเดียว 3 กองทุนสุขภาพ มีมติเริ่มบูรณาการมาตรฐานเดียวในโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยกำหนดแนวทางการรักษาเหมือนกันทั้ง 3 กองทุน เพื่อสร้างความเสมอภาค เป็นมาตรฐานเดียว หวังเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย เริ่มดีเดย์ตุลาคมนี้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการการจัดบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ (หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม
ศาสตราจารย์เมธี สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ผู้ทรงคุณวุฒิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานกรรมการฯ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเสมอภาคด้านการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเริ่มต้นที่เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 1 เม.ย.2555 บูรณาการรักษาเอดส์และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1 ต.ค.2555 หลังจากนี้จะมีการกำหนดแนวทาง/ทิศทางการดำเนินงานจะเป็นการบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว เนื่องมาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) ได้เสนอให้มีการรักษามะเร็งมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของไทยไปยังสำนักเลขาธิการครม. เมื่อส.ค.2555 ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรวมถึงสปสช. หลังจากนั้นได้มีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง 10 ครั้ง และได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวทางการรักษามะเร็ง โดยเชิญหน่วยบริการ กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สภาที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุม ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป
ประธานกรรมการฯ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเตรียมการการจัดการเพื่อบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ ซึ่งกรรมการประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจาก 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลและที่บ้าน รวมถึงระบบการส่งต่อรับกลับ อันจะช่วยลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มอัตราการรอดชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการเตรียมชุมชนเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความรู้สึกมั่นคง ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวชุมชนได้อย่างเหมาะสม จนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต
ประธานกรรมการฯ กล่าวว่า มติที่ประชุมวันนี้ได้เริ่มให้มีการบูรณาการมาตรฐานเดียวในกลุ่มโรคมะเร็ง คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่พบมากของประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ โดยจะมีการกำหนดระบบบริการ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในโรคมะเร็งต่างๆ การรักษาอิงตามกระบวนการรักษาตามมาตรฐาน(protocol) ทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และยาเคมีบำบัดฮอร์โมน มีการดูแลต่อเนื่อง รวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง การให้คำปรึกษาจากกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยแนวทางมิตรภาพบำบัด การดูแลระยะสุดท้าย ที่สำคัญคือมีฐานข้อมูลผู้ให้บริการเพื่อการส่งต่อเครือข่ายบริการ และระบบติดตามผล
ในปี 2555 มีจำนวนผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 2.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยได้รับการรักษา 127,000 คน/ปี โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5-7%
จากข้อมูลแนวโน้มและการคาดการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในปี 2556-2558 พบว่า ทุกสิทธิ (หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 12,539 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระบบหลักประกันสุขภาพ 9,235 คน และผู้ป่วยมะเร็งตับทุกสิทธิ จำนวน 13,279 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยมะเร็งปอดทุกสิทธิมีจำนวน 10,281 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยทุกสิทธิในมะเร็งปากมดลูก จำนวน 8,844 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 6,514 คน มะเร็งทุกสิทธิลำไส้ใหญ่ มีจำนวน 21,002 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 15,593 คน