ความกดอากาศต่ำในไทย เหตุความร้อนจากพื้นดิน
โลกถูกห่อหุ้มด้วยอากาศที่ประกอบด้วยแก๊สชนิดต่างๆ ซึ่งถูกโลกดึงดูดให้มีน้ำหนักกดลงในแนวดิ่ง โดยที่บริเวณผิวโลก อากาศจะมีน้ำหนักมาก และถ้าสูงขึ้นน้ำหนักจะลดลง แต่ว่าอากาศเป็นของไหล ดังนั้นแต่ละตำแหน่งบนผิวโลก น้ำหนัก หรือแรงกด จะไม่เท่ากัน ถ้าบริเวณที่มีน้ำหนักหรือมีความกดอากาศมากกว่าบริเวณโดยรอบ จะเรียกว่าบริเวณความกดอากาศสูง คืออากาศเย็น แต่ถ้าอากาศมีน้ำหนักเบา หรือความกดอากาศน้อยกว่าบริเวณโดยรอบ เรียกว่า บริเวณความกดอากาศต่ำ คืออากาศร้อน ที่มีน้ำหนักเบา
ดังนั้นต้นเหตุของความกดอากาศต่ำ ที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเกิดจากการแผ่ความร้อนจากพื้นดิน ถ้าพื้นเป็นหิน ดิน ไม่มีต้นไม้ จะแผ่ความร้อนมาก และตอนกลางคืนจะมีการแผ่ความร้อนออกมาอากาศร้อน ซึ่งลอยตัวสูงขึ้น โดยไม่มีไอน้ำหรือความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เกิดเป็นความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อน ส่วนในฤดูฝนอากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น และนำความชื้นขึ้นไปกลั่นตัวเป็นเมฆและมีฝนตก