ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เวที กสทช.ร้อน "แนวปฏิบัติของสื่อฯ กับการเสนอข้อมูลข่าวสาร" หลายฝ่ายจี้สื่อคำนึงจริยธรรม อย่า"ดราม่า"ทำข่าวภัยพิบัติ

สิ่งแวดล้อม
28 มี.ค. 56
11:49
222
Logo Thai PBS
เวที กสทช.ร้อน   "แนวปฏิบัติของสื่อฯ กับการเสนอข้อมูลข่าวสาร" หลายฝ่ายจี้สื่อคำนึงจริยธรรม อย่า"ดราม่า"ทำข่าวภัยพิบัติ

กสทช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชน เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม

 นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่ประเทศไทยต้องประสบนั้น ได้สร้างความเสียหายต่อชิวิต และทรัพย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งการมีแผนปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ช่วยเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม,ป้องกัน,แก้ไข และบรรเทาเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือในอนาคต ซี่งแผนแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชน เป็นไปตาม ประกาศของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการฯ ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีช่องทางหลากหลาย อาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ไม่สอดคล้องกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลโดยตรง และเห็นว่าในทางปฏฺบัติของสื่อ อาจเกิดอุปสรรคและปัญหาหลายประการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐได้ กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงฯ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว

 
ทั้งนี้ เห็นว่า แม้การพัฒนาทางเทคโนโลยี จะช่วยทำให้ระบบเตือนภัยมีความทันสมัย และอนาคตหากมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นก็จะยิ่งทำให้ระบบการเตือนภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย โดยกสทช.ให้อำนาจเต็มที่กับผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์มีอำนาจขาดในการตัดสิน เช่น ประเทศญี่ปุ่น หากเกิดเหตุ จะใช้เวลาหลังจากนั้นประมาณ 6 นาที สถานีโทรทัศน์ NHK จะตัดสัญญาณเข้าเป็นช่วยเตือนภัยได้ทันที โดยมีพิธีกรหรือผู้ประกาศพร้อมรายงานเหตุฉุกเฉิน
 
แต่อีกมุมหนี่ง หากเกิดภัยพิบัติจนถึงขั้นระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ ก็จะทำให้ระบบการเตือนภัยล้มเหลวไปด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญทุกสุดคือ การฝึกซ้อมและเตรียมการให้คนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
 
นาวาเอกสอง เอกมหชัย(รน.) ช่วยราชการตำแหน่งผอ.กลุ่มงานเตือนภัยและเผยแพร่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ขึ้นตอนจะเริ่มจากการใช้ดาวเทียมส่งไปยังหอเตือนภัยทั่วประเทศ รวม 328 หอ และที่ศาลากลางจังหวัด ,หอกระจายข่าว จำนวน 654 หอ, แจ้งทางเครื่องวิทยุสื่อสารเตือนภัยของผู้ใหญ่บ้านจำนวน 1,590 เครื่อง ในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายเฉพาะหอเตือนภัย ปีละ 43 ล้านบาท ซี่งทุกรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ สามารถส่งกระจายเสียงได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยภาษาที่ใช้แจ้งเตือนภัย จะมีด้วยกัน 5 ภาษา ขึ้นอยู่ใน ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น
 
ปัจจุบัน ศูนย์เตือนภัยได้ติดตั้งกล่องเตือนภัยไว้ที่สถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง ซี่งมีความพร้อมในการตัดเข้าสัญญาณเตือนภัยได้ทันที ในระหว่างที่สถานีโทรทัศน์ออกอากาศสด และอนาคตหากการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลเรียบร้อย ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนในการแจ้งเตือนภัยได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ เพราะหากดำเนินการไปแล้วเกิดความผิดพลาดก็จะเกิดปัญหาการฟ้องร้อง หรือร้องเรียนตามมาได้ ซึ่งตอนนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)จะต้องออกกฎหมายรองรับการปฏิบัติงานของศูนย์เตือนภัยในประเด็นนี้
 
ทั้งนี้ การเตือนโดยใช้กล่องเอ็คเดค จะใช้เตือนสาธารณะภัยระดับใหญ่ ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง และต้องแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบดังกล่าว พร้อมคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร แต่หากเป็นภัยเล็กๆ ระบบได้เตรียมสนับสนุนเช่นกัน เช่น เป็นตัววิ่งแจ้งไปภายใน 1-2 นาที ซึ่งทางสถานีสามารถพิจารณาเองว่าจะแจ้งประชาชน หรือสาธารณะต่อไปอย่างไร
 
“ในสถานีโทรทัศน์ที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐเมริกา, แคนนาดา และบางประเทศของยโรป ได้ติดตั้งกล่องอัตโนมัติตัวนี้เพื่อใช้รายงานได้ทันท่วงที ซึ่งของไทยตอนนี้ติดตั้งเสร็จแล้ว ตั้งแต่หลังช่วง 11 เมษายน 2555 หลังเกิดเหตุเตือนภัยสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ ฝั่งทะลอันดามัน แต่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับการทำหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยฯ แม้จะติดตั้งครบทุกช่องสถานีโทรทัศน์แล้ว แต่ก็ไม่มีใครกล้าใช้ปฏิบัติจริง ซึ่งภาพรวมการติดตั้งระบบเตือนภัยด้วยกล่องนี้ ศูนย์เตือนภัยฯ ใช้งบประมาณทั้งโครงการ 28 ล้านบาท”
 
สำหรับหัวข้อ”แผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน” นางสาวอัมพวา เจริญกุล รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติสื่อแขนงต่างๆ รายงานผิดพลาดเรื่องจำนวนคนเสียชีวิต เช่น เหตุการเพลิงไหม้ศูนย์พักพิง ที่อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากเกิดจากระบบการสื่อสารที่เข้าถึงยากและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเหตุการณ์นี้แม้จะเป็นภัยพิบัติเล็กของประเทศ เนื่องจากเกิดเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ แต่สำหรับในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วนับว่าเป็นเหตุใหญ่ ดังนั้น ศูนย์กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในพื้นที่จะต้องเป็นแกนหลักในการรายงานหรือให้ข้อมูลเพื่อให้ส่วนกลางรับทราบจากเหตุการณ์คลี่คลาย
 
ส่วนภาพรวมเมื่อเวลาเกิดภัยพิบัติ เครื่องวิทยุสื่องสารจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการายงานข้อมูลเพื่อรับข้อมูลจากหน่วยที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งระดับชาติ, ภูมิภาค ซึ่งจะต้องมีพันธมิตร เพื่อจัดหาการจัดเก็บอุปกรณ์ในการรายงานข่าว โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง หรือ ถูกปิดล้อมสถานี เช่น กรณีไทยพีบีเอสล่าสุด ก็ได้ประสานทางกรมประชาสัมพันธ์เพื่อขอพื้นที่ในการจอดรถ หรือ กรณีที่ ช่อง 11 โดนปิดล้อมจาการชุมนุมทางการเมืองหลายปีก่อน กรมประชาฯ ก็ต้องปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
 
ซึ่งหน่วยงานจะมีแผนเฉพาะในยามวิกฤต เรียกว่า แผนพิทักษ์องค์กร หรือ แผนพระอินทร์ เพื่อให้คนในองค์กรเข้าใจง่ายๆ ในยามเกิดวิกฤต เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่า กรมประชาสัมพันธ์จะเป็นหน่วยที่โดนจับตาและเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมมากที่สุด แต่แผนเหล่านี้จะมีความยืดหยุ่นเสมอ ซึ่งแผนพระอินทร์จะแบ่งตามลำดับความรุนแรง ดังนี้
 
สำหรับ”แผนพระอินทร์หนึ่ง” ใช้ในภาวะปกติ บุคคลากรปฏิบัติงานตามปกติ แต่ต้องมีการฝึกซ้อม เตรียมข้อมูล ก่อนจะมีเหตุไม่ปกติตามมา เจ้าหน้าที่ต้องตื่นตัวเสมอ ทดสอบอุปกรณ์สื่อสารกับภายนอกสม่ำเสมอ ส่วนอุปกรณ์ที่ศูนย์เตือนภัยติดตั้ง จะต้องทดสอบเป็นระยะๆ ว่าใช้ได้หรือไม่ การหาข้อมูลบุคคลที่เป็นแหล่งข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ ที่ไม่ถูกต้องจะมีปัญหาทันที และหาที่แปะในจุดที่ประชาชน หรือคนในองค์กร จะรับรู้ได้ทันที
 
“แผนพระอินทร์ท2″ คือ เหตุการณ์รุนแรงระดับเล็ก ผู้มีหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ปกติ เช่น รายการข่าว ติดตามข้อมูล แต่การจัดตั้งศูนย์จะต้องเกิดขึ้นมาทันที ตั้งบุคคลากรว่าใครรับผิดชอบ จัดเวรยาม ปรับผังรายการให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ หรือ ทำรายการพิเศษหรือไม่ รวมทั้งติดต่อกับสื่อมวลชนในเครือข่ายพื้นที่ เช่น เคเบิ้ล หรือวิทยุชุมชน ที่ต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปด้วย
 
“แผนพระอินทร์3″ เป็นเหตุการณ์ ระดับกลาง ภูมิภาค อาจเกี่ยวข้องกับในหลายจังหวัด เช่น น้ำท่วม การระดมกำลังในการช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ อย่างไร ทำแผนร่วมกัน จัดตั้งหน่วยงานในแต่ละจังหวัด และทำแผนประชาชนสัมพันธ์ รับบริจาค ทำอีเว้นท์ เพื่อส่งเข้ามาช่วยเหลือส่วนกลาง โดยศูนย์ที่กรุงเทพฯ จะเป็นแผนเผชิญเหตุ แต่ต่างจังหวัดต้องทำแผนสนับสนุนด้วย ในกรณีที่ต้องล้มผังรายการระดับใหญ่ ส่วนภูมิภาคจะต้องล้มผังด้วย ถ้าผังที่กรุงเทพฯ ล้ม ซึ่งผู้อำนวยการแต่ละพื้นที่จะต้องประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องนำแผนไหนมาใช้
 
แผนใหญ่สุด คือ “พระอินทร์4″ การรายงานข่าวกรมประชาฯ ต้องร่วมกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล), สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อทุกแห่ง และต้องเกาะติดข้อมูลจากหน่วยราชการเพื่อไม่ให้เป็นภาพลบต่อประเทศไทย ที่ผ่านมาหลายครั้งเกิดปัญหาการตื่นตัวของสื่อในภาวะวิกฤต เพราะไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งนักสื่อสารมวลชนต้องใส่ใจเรื่องภัยพิบัติให้มาก ต้องดูว่าหน่วยอื่นสั่งมาอย่างไร ต้องปฏิบัติตามนั้น และหากแข่งขันทำข่าวกันมากเกินไป ผลเสียหายที่จะเกิดประเทศชาติก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ พบว่าข้อมูลกระจัดกระจาย และนักวิชาการที่ใช้คิดว่าเป็นคนที่มีความสามารถ ข้อมูลก็จะกระจายมาก และจะส่งผลเสียออกไปมาก ส่งผลทำให้คนไม่เดินทางเข้าประเทศ แต่หากเรารับมือกับภัยพิบัติ และรับผิดชอบร่วมกันการ โหมดของการสิ้นสุดของเหตุการณ์ก็จะยุติเร็วขึ้น ความรู้สึกไม่เชื่อมั่น ตื่นตระหนกของประชาชนจะลดลงทันทีจากการทำงานของสื่อ
 
“การเตรียมพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ หน่วยหน้าหน่วยงานต้องอยู่ในพื้นที่ และเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ถ่ายทอดสดต้องวางแผนรองรับแล้ว ระหว่างเกิดเหตุต้องมีกล้องวงจรปิด และมองมุมต่างๆ ได้โดยง่าย บางครั้งการรายงานเหตุการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ซี่งบางครั้งการมองสถานการณ์ในพื้นที่ยังอ่านไม่ขาดจึงต้องใช้บุคคลที่อยู่ระดับสูงไว้ตัดสินใจ และสิ่งสำคัญคือการวางเครือข่ายในพื้นที่เพื่อจะช่วยเหลือกันได้มาก และเวลาเกิดเหตุใหญ่ อุปกรณ์เชยๆ อย่าง วิทยุวอร์คกี้ทอล์กกี้ ก็มีความสำคัญมากเมื่อระบบการสื่อสารถูกตัดขาด ในยามฉุกเฉินแม้แต่รปภ.ของเราก็ต้องมารับโทรศัพท์รับข้อมูลที่หลั่งไหลมากจากภายนอกได้”
 
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันวิชาการสื่อสารธารณะ ThaiPBS ระบุว่า สื่อประเทศไทยนำเสนอข่าวแบบขาดองค์ความรู้ และสถานบันการศึกษาก็ไม่ได้มีวิชาการทำข่าวในภาวะวิกฤต หรือ ภัยพิบัติ สื่อขาดการเตรียมพร้อม เพราะดูจากสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องว่ามีแผนรับมือภัยพิบัติหรือไม่ , แผนกระบวนการดำเนินการ ว่าจะต้องมีทีมข่าวรับมือข่าววิกฤต ต้องเป็นทีมเร็วว่าใครจะต้องทำอะไรต่อไปเมื่อเกิดเหตุ, แนวปฏิบัติในการทำสิ่งต่างๆ ของไทยพีบีเอส มีการถอดบทเรียน มีกระบวนการที่ชัดเจนในการบอกว่าจะทำอย่างไรในการนำเสนอข่าวเมื่อเกิดภัยพิบัติ
 
เรื่องสำคัญของสื่อในการทำข่าวน้ำท่วม คือ อย่าถามผู้ประสบภัยด้วยคำถามว่า”น้ำท่วม..รู้สึกอย่างไร” หรือการทำข่าวของทีมข่าว ควรต้องเอาข้าวไปทานในรถโอบี หรือ ไม่ให้ผู้ประสบภัยเห็น เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบ, การห้ามคุยกันเองว่าพื้นที่ไหนประสบภัยหนักกว่าอย่างไร เพราะจะทำให้ผู้ประสบภัยรู้สึกไม่ดี
 
เมื่อเกิเหตุการณ์ภัยพิบัติ นักข่าวต้องตระหนักว่าจะวางตำแหน่งตัวเองอยู่ตรงไหน ระหว่าง เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือนำเสนอข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ไข สื่อฯ ไม่ควรแข่งขันกันเพื่อทำยอดเงินบริจาค หรือ แจกสิ่งของ เพราะบางพื้นที่อาจสร้างความสับสนให้เจ้าหน้าที่ในการเข้าพื้นที่ได้ และในช่วงวิกฤต ผังรายการที่เป็นรายการตลกควรต้องระงับออกอากาศ
 
“นักข่าว ต้องระลึกว่าจะทำข่าวเพื่อให้คนตื่นตระหนก หรือ ตื่นตระหนัก โดยเฉพาะสมัยนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก นักข่าวที่มีความเป็นมืออาชีพจะต้องทำให้เร็วและถูกต้อง ต้องสู้กับข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ต้องสู้กับข่าวลือให้ทันท่วงที ที่ผ่านมาสื่อละเลยหลักการพื้นฐานความเป็นวิชาชีพของสื่อสารมวลชน ซึ่ง 1นาทีในการรายงานข่าววิกฤต จะสำคัญมากกว่าการถือป้ายข้อความเงินบริจาคช่วยเหลือจากองค์กรไหน”
 
ผศ. พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ สื่อมวลชน จะทำข่าวได้แค่เหตุเฉพาะหน้า ซี่งการทำข่าวในปัจจุบันจะคาบเกี่ยวกับการทำประชาสัมพันธ์ช่องหรือองค์กรสื่อด้วย เมื่อเกิดวิกฤตสิ่งที่เป็นห่วง คือ การให้ความสำคัญหรือนำเสนอในช่องโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ คือ เรื่องสปอนเซอร์ที่แจกของ มากกว่านำเสนอเรื่องข้อมูลในพื้นที่ภัยพิบัติ ทั้งนี้สื่อมวลชนต้องปรับตัว ว่า หน้าที่ของสื่อคืออะไร และที่สำคัญคือ สื่อต้องไม่แย่งซีนผู้ประสบภัย ซี่งสื่อต้องปรับบทบาท และดูลงไปว่าภาคประชาสังคมจะช่วยกันอย่างไร ทำข่าวเพื่อปกป้องทรัพย์สินของผู้ประสบภัย ไม่ใช่ช่วงชิงเรตติ้ง
 
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ที่ผ่านสื่อได้แต่ถอดบทเรียนประสบการณ์หลายอย่าง แต่สำหรับการทำงานของสื่อเอง กลับไม่มีใครเคยถอดประสบการณ์ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมองว่าอาจต้องมีหน่วยงานเข้ามาถอดบทเรียนการทำงานของสื่อ ซึ่งสื่อต้องคิดถึงจริยธรรมในยามวิกฤตด้วย
 
นายธฤต ธนสิวะวงษ์ ผู้จัดรายการ”มิสเตอร์วอป ยามเฝ้าโลก” ทางสถานีโทรทัศน์ช่องระวังภัย ระบุว่า สิ่งสำคัญคือ รู้ไว รู้จริง รู้ว่าข่าวไหนจริง หรือข่าวไหนเป็นข่าวลือ เตรียมตัวให้พร้อม อย่าประมาท เตรียมอุปกรณ์ยังชีพ และยาให้พร้อม และต้องซ้อมอพยพบ่อย
 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช.ระบุว่า การเกิดภัยพิบัติ หัวใจสำคัญ สื่อต้องคำนึงตลอดเวลาเพราะร่างประกาศฉบับนี้ ได้ให้อำนาจเต็มที่ รวมถึงการซักซ็อมแผนการรายงานเหตุภัยพิบัติสม่ำเสมอเพื่อให้มีความพร้อมในการรายงานข้อมูลตลอดเวลา เพราะเรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการได้ล่วงหน้า รวมทั้งสื่อควรนำเสนอด้วยความรอบคอบ และมีจริยธรรม อะไรที่เกิดขอบเขตกฎหมาย และถูกร้องเรียนมา กสทช.ก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง