ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ยังคงแฝงชั้นเชิงทางการเมือง จึงเรียกร้องให้ประธานการประชุม ควบคุมการอภิปรายให้เกิดประโยชน์ พร้อมแนะนำให้ ประชาชน หาคำตอบจากนักการเมืองที่เสนอกฏหมาย เกี่ยวกับความจำเป็นในการออกกฎหมายกู้เงิน และกำหนดวงเงินจำนวนมหาศาล ในฉบับเดียวกัน ผลตอบแทนที่ประเทศจะได้รับคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึง การบริหาร และการประมูลโครงการ จะมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งตัวโครงการและที่มาของงบประมาณว่าจะเป็นไปในลักษณะการกู้เงิน หรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชน ขณะนี้โครงการที่รัฐบาลเตรียมจะลงทุนยังหละหลวมเกินไป แต่ก็เชื่อว่าทุกโครงการจะเป็นประโยช์ต่อประเทศไทยในอนาคต
เเม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว เเต่นายธนวรรธณ์ พลวิชัย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า รัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงรายละเอียดการลงทุนให้ชัดเจน ส่วนฝ่ายค้านต้องแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการใช้เงิน ความคุ้มค่าเพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะ 7 ปีข้างหน้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงอีกร้อยละ 2 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 15 หากเทียบกับจีดีพีของประเทศที่ 12 ล้านล้านบาท จะประหยัดได้ปีละ 200,000-250,000 ล้าน และหากดำเนินการ 10 ปีจะคุ้มค่ากับการลงทุน 2 ล้านล้านบาท