สำรวจ
โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนนำร่อง ที่ใช้ค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P มาแล้วกว่า 3 ปี โดยนโยบายการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงผลดี ผลเสีย นั่นทำให้การดำเนินการ ที่ผ่านมาของ รพ.แก่งคอย อาจสะท้อนข้อเท็จจริงบางประเด็นให้ชัดเจนขึ้น
นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผอ.รพ.แก่งคอย ยอมรับการประเมินค่าตอบแทนแบบ P4P ช่วยวัดการปฏิบัติงานในเชิงปริมาณได้ดี ทำให้ทราบภาระงานของบุคลากรแต่ละระดับ ง่ายต่อการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับงาน แต่กลับไม่สามารถวัดผลเชิงคุณภาพ และยิ่งเพิ่มภาระให้แก่บุคลากรมากขึ้น
สำหรับคะแนนในการปฏิบัติงาน ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการของโรงพยาบาล แบ่งตามระดับความยากง่าย แต่งานด้านรักษา และส่งเสริมสุขภาพ ที่มีจำนวนมาก ทำให้การกำหนดคะแนนทำได้ยากและนำไปสู่ความขัดแย้งในบุคลากร ที่พบว่า มีการหลีกเลี่ยงงานที่ได้คะแนนน้อย ขณะที่รูปแบบการกรอกคะแนน ก็เป็นระบบที่โรงพยาบาลพัฒนาขึ้นเอง แต่ยังเป็นการทำงานซ้ำซ้อน หลายขั้นตอน
ส่วนการนำร่องใช้ P4P ที่ยังได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม และเพิ่มค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ On Top แต่การดำเนินการจริงจากนี้ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่จะถูกตัดออกไปกว่าครึ่ง ยิ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์เริ่มกังวลถึงการทำงานที่เปลี่ยนไป
ปัญหาที่เกิดขึ้น นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการ รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขประเมินผลการนำร่องจากข้อเท็จจริง แล้วนำไปปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพก่อนจะนำมาใช้ โดยเฉพาะค่าคะแนนกลางการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น
แม้ตัวอย่างการใช้ค่าตอบแทน P4P ของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาบ่อยครั้ง แต่ ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า ยังไม่มีผลวิจัยยืนยันถึงความสำเร็จที่ชัดเจนว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรูปแบบใหม่นี้ ส่งผลดีต่อระบบสุขภาพของประชากรได้อย่างไร
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ สะท้อนว่า การจะปรับเปลี่ยนให้ P4P สะท้อนคุณภาพได้จริง ต้องประเมินผ่านกิจกรรมที่เห็นผลการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม จึงสามารถคิดเป็นคะแนนได้ ไม่ใช่หวังผลแค่ปริมาณการปฏิบัติงาน โดยไม่มองในเชิงการรักษา ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องทบทวนแนวทางให้รอบคอบ ก่อนที่บุคลากรทางการแพทย์จะถูกปรับพฤติกรรม แนวคิดการทำงาน เพื่อมุ่งหวังแต่ค่าตอบแทน