ถอดบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 4
ภัยพิบัติธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่ทำให้ชาวอาเจะห์เสียชีวิตไปกว่า 100,000 คน และความเสียหายราบคาบในเมืองเอกของอาเจะห์ ยังคงติดอยู่ในใจของผู้รอดชีวิต แต่ขณะเดียวกัน คลื่นยักษ์ลูกนี้ ก็กลับเป็นเหมือนคลื่นที่พัดเอาความรุนแรงพ้นไปจากอาเจะห์
ใช้เวลาเพียง 8 เดือน และเจรจาอย่างเข้มข้นที่กรุงเฮลซิงกิ 6 คร้ัง ในการเจรจาครั้งที่ 7 ทั้งสองฝ้ายก็สามารถลงนามกันได้ ทั้งที่การเจรจาครั้งแรกต่างไม่มีกรอบหรือเงื่อนไข มีเพียงจุดยืนของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ไม่ต้องการคำว่า เขตปกครองพิเศษ หรือ Authonomy แต่นอกจากนั้นก็ให้กลุ่ม GAM เสนอมาว่าต้องการอะไร จึงได้ข้อตกลงจัดตั้งเขตปกครองตันเอง หรือ Self Control
นอกจากความพยายามของภาครัฐและกลุ่มกัมแล้ว ชาวอาเจะห์ก็พยายามไม่แพ้กัน พวกเขาเริ่มความพยายามเพื่อสันติภาพมาตั้งแต่ช่วงปี 2544 โดยอิบุนาอิมะห์ ฮาซัน คืออดีตประธานสภาสตรีอาเจะห์ในยุคนั้น เธอเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้กลุ่มสภาสตรีเริ่มต้นขับเคลื่อนขบวนการสู่สันติภาพ ก็คือวาทกรรมของหนึ่งในแกนนำกองกำลัง GAM ในพื้นที่ ว่า "ชาวอาเจะห์จะได้อิสรภาพในเวลาเพียงชั่วบุหรี่มวนเดียว" ทั้งที่ในความเป็นจริง GAM ยังคงต้องต่อสู้โดยแทบจะมองไม่เห็นปลายทาง ผู้หญิงเป็นหม้ายเพิ่มขึ้น เด็กกำพร้ามากขึ้น บ้านเรือนเสียหายเยอะขึ้นทุกวัน
การขับเคลื่อนของสตรีในอาเจะห์ เริ่มต้นจากการพูดคุยกับคนใกล้ตัวให้เข้าใจตรงกันว่าการต่อสู้ไม่ได้ให้ประโยชน์ และสันติภาพเท่านั้นจึงจะเป็นคำตอบ จากผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ก็ค่อยๆขยายวงออกไป และมีการดึงกลุ่มอื่นๆ เช่นนักศึกษา นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานเรื่องสันติภาพ ประสานจนถึงกลุ่มสตรีในกรุงจาการ์ต้า ร่วมกันเสนอแนวคิดเพื่อสันติภาพ และนำข้อเสนอส่งมอบต่อนายอับดุลลาห์ ซาเฟฮีน ผู้บัญชาการกองกำลังกัม ณ ขณะนั้น และอดีตประธานาธิบดีอับดุล เลาะห์มัน วาฮิด
แรงขับเคลื่อนของกลุ่มสตรี ภาคประชาสังคม นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว หลังการเจรจาล่มไปหลายต่อหลายครั้ง เมื่อ พล.ท.สุสิโล่ บัมบัง ยูโดโยโน่ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปี 2547 ทำให้ความหวังสันติภาพเพิ่มสูงขึ้น และยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการอาเจะห์ที่มาจากส่วนกลางด้วย
อัซวา อาบูบากา ผู้ว่าการจังหวัดอาเจะห์เมื่อปี 2547 ด้วยความเป็นชาวอาเจะห์โดยกำเนิด เขาจึงเข้าใจดีว่า ไม่ใช่ชาวอาเจะห์ทั้งหมดที่ต้องการแยกตัวจากอินโดนีเซีย แต่เมื่อมีขบวนการแบ่งแยกดินแดน โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพ และอินโดนีเซียยังเป็นหนึ่ง เขาจึงเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆในสังคมได้พูดคุย เสนอความคิดและตกผลึกร่วมกัน
ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้น เพราะสื่อมวลชนในพื้นที่เอง ก็ร่วมผลักดันสันติภาพด้วย โดยมูฮัมหมัด ฮัมซา นักข่าวในอาเจะห์เล่าว่า ช่วงที่มีการสู้รบรุนแรง ทุกฝ่ายในพื้นที่ต่างลำบาก เพราะการทำหน้าที่ในความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงประชุมร่วมกันในกลุ่มสื่อมวลชนในพื้นที่ และยึดแนวทางสื่อสันติภาพ ด้วยการลดการรายงานความขัดแย้ง เช่น จำนวนครั้งของเหตุรุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายตรงข้ามกัน แต่เน้นรายงานตีแผ่เพื่อกระตุ้นมโนธรรมและมนุษยธรรม เช่นรายงานผลกระทบต่อเด็กและสตรีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการ หรือความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นต้น
สำนักงานของหนังสือพิมพ์เซอร์แรมบี สาขาจังหวัดอาเจะห์ ในช่วงการต่อสู้ เคยถูกเผาไป 2 ครั้ง และรถข่าวถูกระเบิดไป 12 คัน โดยยาร์เมน ดินามิกา บรรณาธิการบริหาร ที่ทำงานในพื้นที่มากว่า 10 ปี บอกว่า "ช่วงที่มีความขัดแย้ง เราตกลงที่จะรายงานในเรื่องผลกระทบด้วยการต่อสู้ และเมื่อการต่อสู้ยุติลง เริ่มมีสันติภาพ สื่อในอาเจะห์ก็ทำหน้าที่ติดตามการฟื้นฟูความสูญเสีย ติดตามเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดการเวิร์คช็อป เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสื่อรุ่นใหม่ๆ ให้สานต่อแนวทางสื่อสันติภาพ"