ในทันทีที่เดินทางกลับถึงไทย คณะตัวแทนภาครัฐ ที่เดินทางไปมาเลเซีย เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับแกนนำขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น นำโดยพล.ท.ภรดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ได้เข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนีบรัฐบาล เพื่อรายงานผลการพูดคุยนัดแรก
พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบ และกำชับให้ดำเนินการขั้นต่อไปอย่างรอบด้าน โดยยึดหลักตามแนวทางสันติวิธี พร้อมแสดงความมั่นใจว่า การพูดคุยนัดแรก สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้ และเป็นผลให้มีการนัดหมายที่จะพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 29 เมษายนนี้ โดยระบุว่า เป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว และหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องสื่อสารข้อความการพูดคุย โดยกลุ่มบีอาร์เอ็น จะต้องนำข้อมูลความต้องการของภาครัฐที่ต้องการลดความรุนแรงในพื้นที่ ไปแจ้งต่อแนวร่วม ขณะที่ภาครัฐ ก็จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะความต้องการของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ขอความเป็นธรรมในการดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากคดีของแต่ละบุคคลมีความหลากหลายแตกต่างกัน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางที่ต้องดำเนินการนับจากนี้ไป คือ การหาทางลดความรุนแรง ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ สมช.เลือกแล้ว และน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หากจะลดความรุนแรงก็ต้องให้ทุกฝ่ายร่วมด้วย โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือฝ่ายปฏิบัติจะต้องเข้าใจในกระบวนการลดความรุนแรงของภาครัฐตรงกัน โดยช่วงเวลาหลังการพูดคุยนัดแรกคือช่วงทดสอบ พิสูจน์ ความจริงใจของผู้ที่มาร่วมพูดคุย
ส่วนมุมมองของนักวิชการในพื้นที่นั้น ผศ.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดยะลา ชี้ว่าข้อเสนอแนะหรือความต้องการจากเวทีการพูดคุย 2 ฝ่ายนั้น ถือเป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ แต่บางเรื่องหรือบางข้อรัฐต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วน เพื่อความรอบคอบและรอบด้านในผลที่จะตามมา โดยเฉพาะการเสนอนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ยังเชื่อว่า การพูดคุยที่เกิดขึ้นในนัดแรก ยังไม่สามารถลดความรุนแรงได้ คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ที่จะรอผลในการสื่อสารข้อมูลว่าจะครอบคลุมแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบได้หรือไม่