ทั้งนุ่งอาบน้ำ คาดเอว โพกศีรษะ ซับเหงื่อ และอีกสารพัดประโยชน์ ทำให้ผ้าขาวม้ายังคงอยู่ในวิถีชีวิต เช่นที่บ้านหนองเครือบุญ อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณสมบัติของวัสดุ ผ้าฝ้ายที่บางเบา เหมาะกับอากาศร้อนอย่างเมืองไทย เป็นอีกปัจจัยทำให้ผ้าขาวม้ายังเป็นที่นิยมของชาวบ้านละแวกนี้ไม่เคยเปลี่ยน
ผ้าขาวม้า ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต และในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้หลายบ้านคงคิดที่จะหาผ้าขาวม้ามาสวมใส่เพื่อคลายร้อนกันบ้าง เช่นเดียวกับที่ ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านที่นี่ยังคงสืบสานและอนุรักษ์ในวิถีการใช้ผ้าขาวม้าไว้อย่างเหนียวแน่น ถึงขนาดจัดตั้งกลุ่มทอผ้าชุมชนขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นงานหัตกรรมที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
กลุ่มทอผ้าขาวม้าบ้านหนองเครือบุญ ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 14 ปี แล้ว เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้าภายในชุมชน โดยผลิตผ้าขาวม้าเป็นสินค้าหลัก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากไปกว่าผืนผ้า เช่น หมวก กระเป๋า และของที่ระลึก ทั้งยังสร้างสรรค์ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายน้ำไหล ซึ่งเกิดจากเทคนิคการมัดย้อมสีเส้นด้าย ก่อนนำไปทอจนได้ลวดลายสลับสีคล้ายน้ำไหล การต่อยอดพัฒนาจากวัตถุดิบผ้าขาวม้าเพื่อให้มรดกภูมิปัญญานี้ยังคงอยู่ในวันที่เริ่มเสื่อมความนิยม
"คนสมัยนี้วัยรุ่นสมัยนี้ ไม่ค่อยใช้ผ้าขาวม้ากันแล้ว เขาใช้ผ้าเช็ดตัวกันแทน เลยคิดว่าเราต้องทำตรงนี้ แล้วทำอย่างอื่นมาแปรรูป ความคิดนะคะ อยากให้เขา คนรุ่นใหม่หันมามอง อย่างน้อยเราทำตุ๊กตา ทำอะไรแบบนี้เขาก็หันกลับมามองแล้ว" พิสมัย ซอกดุลย์ ประธานกลุ่มทอผ้าขาวม้าบ้านหนองเครือบุญ
วันนี้ผ้าขาวม้าจากบ้านหนองเครือบุญ เป็น 1 ในผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นบ้านที่ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นแบบอย่าง นำมาตัดเย็บเป็นเครื่องกาย ตามโครงการรณรงค์การใช้ผ้าไทย ช่วยให้ผ้าขาวม้าอวดลวดลาย และคลายร้อน รวมถึงสร้างรายได้ให้ชุมชน