องค์กรวิทย์-สาธารณสุข ผนึกกำลัง ร่างแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัย-จริยธรรมนาโนเทคโนโลยี
มุ่ง3 แผนหลักด้านความปลอดภัยนาโนฯ หวังไทยเป็นผู้นำ เมื่อเปิดเออีซี ปี 2558
นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์นาโนเทค มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี:แผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช.(รังสิต) โดยมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันทำแผนปฏิบัติการฯ. ตาม“แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี พ.ศ.2555-2559 ซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่11 กันยายน 2555 เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา ผลิต จำหน่าย ตลอดจนการใช้นาโนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นาโน อย่างมีจริยธรรมเหมาะสม ยั่งยืน และมีส่วนร่วมตามวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์ “นาโนปลอดภัย พัฒนาไทย ก้าวไกลอย่างยั่งยืน” เพราะถึงแม้เทคโนโลยีจะดีอย่างไรแต่ไม่ปลอดภัยก็จะเกิดความไม่แน่ใจต่อผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยีเพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปใช้ต่อไป
นายศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ-สวทช.กล่าวว่า แผนดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ประเทศไทยมีทั้งในเรื่องการสนับสนุน การพัฒนาวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีและการเฝ้าระวัง การป้องกันและการบริหารความเสี่ยงด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้การพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนและปลอดภัย โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ จะประกอบด้วย3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1.การบริหารจัดการความรู้ด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ให้เข้าถึงในกลุ่มภาคประชาชนได้อย่างแพร่หลาย
2.การทำให้เกิดความเข้มแข็งความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีทุกๆ ด้านทั้งการบริหารจัดการสารเคมีการบริหารจัดการของเสีย การขนส่ง การใช้ประโยชน์ เป็นต้น
3.การดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ทำให้ภาคประชาชนมีความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถตามติดเทคโนโลยที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
“วัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือ การจัดทำแผนการปฏิบัติการ ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯให้สามารถปฏิบัติได้จริงโดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น จะนำเสนอแผนปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่งเมื่อนำมารวมกันภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ก็จะสามารถบูรณาการและขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งประเทศ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมจะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อให้แผนปฏิบัตินี้ผลักดันไปสู่การใช้งานได้จริง”ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว
รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าวว่า ประเด็นความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ถือเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐบาลต่างๆหลายประเทสทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนฯ และนำมาปฏิบัติโดย หวังว่าแผนดังกล่าวจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหรือขยายวงกว้างไปสู่เอเชียทั้งหมดอย่างไรก็ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้
ดังนั้นการจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับกลไกในการสนับสนุนแผนปฏิบัติการ ให้สามารถดำเนินการได้จริง จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน สินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวด โดยที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศอื่นทั้งสิ้นโดยไม่มีทางเลือก และในอนาคตอาจมีการกำหนดมาตรฐานระดับนาโนขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก หากไม่มีการพัฒนาการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานต่างๆให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่การประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็งโดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ซึ่ง ในส่วนของการวิเคราะห์ทดสอบ ปัจจุบันประเทศไทยเสียเงินค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานขององค์กรต่างชาติ มูลค่าปีละหลายพันล้านบาท หากเราสามารถหันกลับมาสร้างมาตรฐานเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์ทดสอบด้านนาโนเทคโนโลยี ให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆรวมทั้งเป็นผู้นำอาเซียนในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันมากขึ้นก็จะเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยในอนาคต.